สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 ธ.ค. 66
สภาพอากาศวันนี้ : มวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยเริ่มอ่อนกำลังลง ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออก มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ในขณะที่ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ในวันที่ 28–31 ธ.ค. 66 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 76% ของความจุเก็บกัก (62,212 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 66% (38,000 ล้าน ลบ.ม.) อ่างฯเฝ้าระวังน้ำน้อย 3 แห่ง (สิริกิติ์ กระเสียว และคลองสียัด) อ่างฯเฝ้าระวังน้ำมากเสี่ยงล้นกระทบต่อด้านท้ายน้ำ 1 แห่ง (บางลาง)
3. สถานการณ์น้ำในลำน้ำ : ทุกภาคปริมาณน้ำน้อย ยกเว้นภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำมาก โดยเฉพาะแม่น้ำปัตตานี แม่น้ำโก-ลก คลองเสาธง คลองท่าดี และคลองตันหยงมัส
4. พื้นที่อุทกภัย : จากสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 5 จ. ได้แก่ จ.สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส 28 อำเภอ 142 ตำบล 829 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 60,962 ครัวเรือน
5. กิจกรรมสำคัญ : วานนี้ (26 ธ.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการประเมินผลและจัดทำรายงานตามตัวชี้วัด SDG 6.4 ประสิทธิภาพการใช้น้ำและการขาดแคลนน้ำ ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) และคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สทนช. เป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 6 (SDG6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน และเป้าหมายย่อยที่ 6.4 (SDG 6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดย สทนช. ได้ประสานบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บรรลุเป้าหมายที่รับผิดชอบ โดยต้องรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ และรายงานผลการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อย ต่อ กพย. และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทั้งนี้ สทนช. มุ่งหวังว่าผลการศึกษาที่ได้รับจะสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการน้ำและลดระดับความเครียดด้านน้ำของประเทศ รวมทั้งใช้เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและความมั่นคงน้ำของประเทศต่อไป