นายกฯ ปลื้ม กล่อมนักลงทุนญี่ปุ่นอยู่หมัด
• นักลงทุน 500 คนแห่ฟังเศรษฐาคุยฟุ้ง
• จับมือพัฒนาธุรกิจสีเขียวลดโลกร้อน
• ยานยนต์EV ตัวเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจไทย
นายกฯ สัมภาษณ์ พอใจการเดินทางร่วมประชุม ASEAN-Japan ครั้งนี้มาก เชื่อมั่นกระตุ้นการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น มั่นใจทุกโครงการที่หารือวันนี้จะเกิดและเห็นผลสำเร็จในรัฐบาลนี้
วันนี้ 15 ธ.ค. 2566 เวลา 16.30 น. (เวลาท้องถิ่น ณ กรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพ 2 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ในโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปภารกิจวันแรกในวันนี้ ช่วงเช้าได้พบหารือกับนายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่เพิ่งรับตำแหน่งใหม่และได้พบกับนายกรัฐมนตรีเป็นคนแรกภายหลังรับตำแหน่งได้ยืนยันการค้าและความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย
ในส่วนของการสัมมนา BOI มีนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนกว่า 500 คนร่วมเข้ารับฟังการสัมมนาเป็นโอกาสยืนยันความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนานและการลงทุนร่วมกัน และประเด็นที่จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พลังงานสีเขียว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โครงการขนาดใหญ่ของไทย Landbridge
การหารือกับภาคเอกชนที่สำคัญได้แก่
บริษัท Mitsui พูดคุยเกี่ยวกับการตรวจเจาะการส่งก๊าซ ซึ่งเป็นประเด็นที่สนใจและมีความชำนาญ
บริษัท Honda เป็นบริษัทที่ทำการลงทุนในประเทศไทยมานาน มีการลงทุนเยอะ มีแผนที่จะลงทุนอีกห้าหมื่นล้านบาทภายในห้าปีข้างหน้า โดยนายกรัฐมนตรีให้เร่งการลงทุน EV หรือ Plug-in เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
บริษัท Nissan ยืนยันที่จะลงทุนกับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องโดยเป็นบริษัทที่เริ่มทำธุรกิจด้าน EV แล้ว
บริษัท Mitsubishi สนใจที่จะผลิตรถ Pickup EV ซึ่งเป็นประเภทรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสในการพัฒนาพลังงานสะอาด Zero Carbon
บริษัท Isuzu พร้อมลงทุน 32,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อห้าปีที่แล้วที่มีการลงทุน 20,000 ล้านบาทถือเป็นจำนวนการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีได้เร่งให้เริ่มลงทุนเร็วขึ้นและใช้ไทยเป็นฐานการส่งออก
บริษัท Mazda มีทั้ง supply chain และฐานการผลิตในประเทศไทย เป็นบริษัทที่ใช้ไทยเป็นฐานและใช้ซัพพลายในไทยเยอะ
บริษัท Suzuki ลงทุนในไทยมานานแล้ว และขอให้ไทยส่งเสริมการลงทุนต่อ โดยในนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ผลิตมอเตอร์ไซค์ EV ในประเทศไทย
บริษัท Toyota เป็นบริษัทที่มีการลงทุนใหญ่ที่สุดอยู่ในไทยมากกว่า 60 ปีแล้ว รุ่น Hilux ขายดีที่สุด ทั้งนี้ ประเด็นที่โตโยต้าห่วงกังวลคือเรื่อง Charging Station โดยเมื่อรัฐบาลให้ความมั่นใจเรื่องนี้ ทางโตโยต้าก็จะเร่งการผลิต EV ให้เร็วขึ้น อีกส่วนคือ Toyota ทำเรื่อง Leasing ซึ่งตรงกับประเด็นที่รัฐบาลตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา รัฐบาลได้เสนอให้โตโยต้าช่วยเรื่องการปรับหนี้ โดยทางโตโยต้าก็รับปากจะดูแลให้
ทั้งนี้ เมื่อได้หารือวันนี้แล้วทำให้ตระหนักถึงความสำคัญกับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นมากขึ้น และเมื่อหารือก็มีความสนใจด้านพลังงานไฮโดรเจน พลังงานทางเลือก และพลังงานน้ำ
โดย นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า 40% ของรถยนต์ที่ขายในช่วงมอเตอร์โชว์ปีนี้เป็นรถยนต์ EV ซึ่งยิ่งทำให้มั่นใจได้ว่าจะเป็นตัวเร่ง Charging Station / High Speed Charging ในประเทศไทยให้มากขึ้น
นายกรัฐมนตรียืนยันพอใจในการเดินทางครั้งนี้มาก ทีมงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการบ้านมาอย่างดี ทำให้การพูดคุยกันเป็นไปด้วยมิตรภาพ เปิดโอกาสให้มีการเร่งการลงทุนได้อย่างลงตัว มั่นใจว่าโครงการเหล่านี้ทุกโครงการจะเกิดขึ้นภายในสี่ปี สำเร็จเป็นรูปธรรมภายในรัฐบาลนี้
ในส่วนกรณีที่คุณพิธาประเมินการทำงานของรัฐบาลในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา นายกฯ กล่าวว่ารัฐบาลได้ทำงานอย่างชัดเจน อะไรที่ทำได้ทำก่อน ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน พักหนี้ กระตุ้นการท่องเที่ยว สนับสนุนการลงทุน และไม่หนักใจกรณีที่ฝ่ายค้านจะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลก็มีหน้าที่ชี้แจงการทำงานให้ชัดเจน รวมทั้งพยายามที่จะทำงานตาม Roadmap ซึ่งก็คือตั้งใจทำงานเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไทยให้ดีขึ้น
โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ตอบว่าช่วงเวลาวันที่ 19 บ่าย ถึงเที่ยงวันที่ 22 นายกรัฐมนตรีลางานไปพักผ่อน จะพาคุณแม่ และลูกลูกไปเที่ยวแต่ก็ยังติดต่อได้ตลอดเวลา พร้อมทำงาน ตามที่เสนอตัวเข้ามาทำงานเพื่อแบกความหวัง และความฝันของประชาชน