สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 15 ธ.ค. 66
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ในช่วงวันที่ 17–19 ธ.ค. 66 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในระยะแรก
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 14 ธ.ค. 66 น้อยกว่า ปี 65 จำนวน 4,326 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 62,855 ล้าน ลบ.ม. (76%)
ปริมาณน้ำใช้การ 38,646 ล้าน ลบ.ม. (67%)
การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำ
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุด 3 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันออก : คลองสียัด
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
ติดตามอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ปริมาณน้ำ > 100%
ภาคใต้ 7 แห่ง : หาดส้มแป้น คลองหยา คลองแห้ง ห้วยน้ำใส คลองกระทูน คลองดินแดง คลองหัวช้าง
น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ตามที่ กนช. เห็นชอบ 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 66 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการ ดังนี้
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งดำเนินโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่ ต.ลำพันชาด อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี และซ่อมแซมระบบประปาบาดาล ในพื้นที่ ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
กองบัญชาการกองทัพไทย ดำเนินการขุดสระเก็บน้ำ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนการเกษตรในพื้นที่ ต.บุ่งคล้า อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
วานนี้ (14 ธ.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำ เนื่องจากสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกหนักต่อเนื่องในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ในช่วงวันที่ 18 – 22 ธ.ค. 66 และได้มอบหมายศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% สำหรับเขื่อนบางลาง จ.ยะลา มีความจำเป็นต้องควบคุมการระบายน้ำตามสถานการณ์ให้มีความเหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนปัตตานี และเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณคลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส
ในขณะที่พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้าสู่ช่วงฤดูแล้งแล้ว สทนช. เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามระวังพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นพร้อมรับมือสถานการณ์และให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ต้องดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้มีน้ำต้นทุนเพียงพอกับความต้องการตลอดฤดูแล้ง