สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 ธ.ค. 66
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ : ในช่วงวันที่ 14 –..16 ธ.ค. 66 มวลอากาศเย็นกำลังอ่อน จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่มีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตก
เคลื่อนผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงฝนฟ้าคะนองบางแห่งในภาคเหนือ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 12 ธ.ค. 66 น้อยกว่า ปี 65 จำนวน 4,339 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 63,028 ล้าน ลบ.ม. (77%)
ปริมาณน้ำใช้การ 38,819 ล้าน ลบ.ม. (67%)
การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดใหญ่
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมสูงสูด 6 แห่ง ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดนและบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ลำปาว ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์
ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุด 3 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันออก : คลองสียัด
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
มาตรการและการช่วยเหลือ
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการจัดเจ้าหน้าที่ชุดสำรวจร่วมกับบุคลากรทางการศึกษาเข้าสำรวจ เพื่อสนับสนุนโครงการจัดหาน้ำกินน้ำใช้ ให้กับสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และตรวจสอบความซ้ำซ้อน ตามแผนงานโครงการประจำปี งบประมาณ ปี 2568 ณ โรงเรียนบ้านพัฒนา หมู่ 5 บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบการประกอบกิจการน้ำบาดาล การใช้น้ำบาดาล ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 ในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนคร โดยได้เข้าตรวจสอบภาคเอกชนผู้ใช้น้ำบาดาลในประเภทธุรกิจ เพื่อให้สถานประกอบการใช้น้ำบาดาลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อช่วยรักษาสมดุลชั้นน้ำบาดาลอีกด้วย
สถานการณ์เพาะปลูกพืช
แผน-ผล การเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ แผนการเพาะปลูก รวม 10.66 ล้านไร่ ผลการเพาะปลูก 2.02 ล้านไร่ (19%)
แผน-ผล การเพาะปลูกพืชลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนการเพาะปลูก รวม 4.90 ล้านไร่ ผลการเพาะปลูก 1.36 ล้านไร่ (28%)
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 66 กรมชลประทาน ดำเนินการจัดประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้โครงการชลประทานในพื้นที่บริหารจัดการน้ำควบคู่ไปกับการเก็บกัก เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งให้ได้มากที่สุด พร้อมปฏิบัติตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง อย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพียงพอใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้