สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 9 ธ.ค. 66
สภาพอากาศวันนี้ : บริเวณความกดอากาศสูงมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น ในภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่าง มีฝนบางแห่งเกิดขึ้นได้ ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนอง
คาดการณ์ : ในวันที่ 10-11 ธ.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ในวันที่ 12 – 14 ธ.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลง กับมีฝนบางแห่งในระยะแรก
ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 8.ธ.ค. 66 น้อยกว่า ปี 65 จำนวน 4,241 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 63,356 ล้าน ลบ.ม. (77%)
ปริมาณน้ำใช้การ 39,147 ล้าน ลบ.ม. (68%)
การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดใหญ่
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมสูงสูด 8 แห่ง ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อยบำรุงแดน และบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุบลรัตน์ และลำปาว ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุด 3 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันออก : คลองสียัด
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด
2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ
3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ส่งมอบโครงการ ระบบประปาบาดาล และระบบสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในพื้นที่ บ้านโนนทอง หมู่ที่ 7 ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี พร้อมให้คำแนะนำวิธีการใช้งานและวิธีการบำรุงรักษาระบบประปาบาดาลให้แก่ผู้ดูแลต่อไป
กรมชลประทาน เร่งขุดลอกกว๊านพะเยา จ.พะเยา โดยได้ดำเนินการขุดลอกตะกอนดินรอบกว๊านพะเยา รวมทั้งขุดแนวร่องเดิมของกว๊านพะเยาให้กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำ
ในแก้มลิงแห่งนี้ได้มากขึ้น เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการสนับสนุนการอุปโภคบริโภค การเกษตร ตลอดจนรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต อีกทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในช่วงฤดูน้ำหลาก ในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าการขุดลอกยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ กรมชลประทาน ได้เข้าไปช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังที่ได้รับผลกระทบบางส่วน โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากในพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 66 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหารือระดับประเทศเพื่อเสนอชื่อหน่วยงานระดับประเทศในการรับผิดชอบดำเนินงานตามแนวปฏิบัติด้านการตอบสนองและการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านคุณภาพน้ำ ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ กรมเจ้าท่า กรมประมง และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการ สทนช. ได้กล่าวให้ความสำคัญในการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในประเทศในการตอบสนองและจัดการเหตุฉุกเฉินด้านคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง และความจำเป็นในการมีหน่วยประสานงานในประเทศ (National Focal Point) ทำหน้าที่ในการประสานงาน สื่อสาร ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งใน และต่างประเทศในการตอบสนองและจัดการเหตุฉุกเฉินด้านคุณภาพน้ำดังกล่าว และที่ประชุมได้เสนอชื่อกรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานระดับประเทศ ในการรับผิดชอบดำเนินงานตามแนวปฏิบัติด้านการตอบสนองและการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านคุณภาพน้ำ