ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าเดือนพ.ย.ทรุด
• ดัชนีฯอยู่ที่ 54.3 ลดลงจากเดือนต.ค. 55.4
• ทั่วทุกภาคประเทศไทยกังวลเศรษฐกิจติดลบ
• 9 ปัจจัยลบรุมเร้าการการดำรงชีวิต
ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า พ.ย. ลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 54.3 ลดลงจากระดับ 55.4 ในเดือนต.ค. 2566 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 กังวลเศรษฐกิจ เอลนีโญและหนี้ครัวเรือน ขณะที่ปัจจัย รัฐบาลลดค่าไฟฟ้า น้ำมัน ท่องเที่ยวดีขึ้น
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนพ.ย. 66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 พ.ย. 66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 54.3 ลดลงจากระดับ 55.4 ในเดือนต.ค. 2566 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.8 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.9
ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.4 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.6
ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 57.1 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 58.1
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.2 ลดลงจากเดือนต.ค.ที่ 54.4
ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.2 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.1
ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.4 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.3
ปัจจัยลบ
1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ต่อปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน เป็นระดับที่เหมาะสมกับบริบท ของเศรษฐกิจไทยที่กำลังทยอยฟื้นตัว และได้ปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 66 ลงอยู่ที่ 2.4% และปี 67 จะอยู่ที่ 3.2% หากไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต แต่ถ้ารวมดิจิทัลวอลเล็ต จะอยู่ที่ 3.8%
2. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 3/66 ขยายตัวได้ 1.5% เนื่องจากการส่งออกของไทยหดตัวติดลบต่อเนื่อง 3 ไตรมาส
3. สถานการณ์ระหว่างอิสราเอลและฮามาสในฉนวนกาซายังดำเนินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และอาจยืดเยื้อ จนส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและพลังงานโลกให้ขยับสูงขึ้น
4. นักลงทุนทั่วโลกมีความกังวลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
5. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอยู่ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน สหรัฐ และยุโรป
6. SET Index เดือน พ.ย. 66 ปรับตัวลดลง 1.65 จุด จาก 1,381.83 ณ สิ้นเดือน ต.ค. 66 เป็น 1,380.18 ณ สิ้นเดือน พ.ย. 66
7. ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 36.522 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ต.ค. 66 เป็น 35.466 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน พ.ย. 66 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
8. ความกังวลในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่างๆ อาทิ เงินดิจิทัล และการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่จะกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มขึ้น
9. ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบในระยะยาวและกระทบต่อความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตร และเพื่อการอุปโภค-บริโภค
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชน โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน
2. มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเว้นการขอวีซ่าฟรีให้นักท่องเที่ยวอีก 2 ประเทศ ไต้หวัน-อินเดีย โดยมีผลใช้ตั้งแต่ 10 พ.ย. 66-10 พ.ค. 67 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
3. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ และประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
4. การส่งออกของไทยเดือน ต.ค. 66 ขยายตัว 8.0% มูลค่าอยู่ที่ 23,578.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 10.2% มีมูลค่าอยู่ที่ 24,411.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 832.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวลดลงโดยปรับตัวลดลงประมาณ 4.0 และ 2.5 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศยังคงอยู่ในระดับทรงตัว ณ สิ้นเดือนต.ค. 66
6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
7. ประชาชนเริ่มมีสัญญาณในการจับจ่ายใช้สอยที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น แต่ยังคงมีการระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้เสนอแนะแนวทางต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา เช่นมาตรการส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศ โดยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชน มาตรการดูแลต้นทุนของภาคธุรกิจให้มีความเสถียรภาพและไม่กระทบกับภาคธุรกิจ ส่งเสริมสินค้าส่งออกของไทยให้เปิดตลาดต่างประเทศให้มีความเชื่อมั่นกับผลิตภัณฑ์ของไทย ดูแลบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตร และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อรองรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป การดูแลและช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตร ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติ
นโยบายและมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยสู่การปรับเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อผลักดันสินค้าไทยไปสู่ Net Zero และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน รักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินให้สมดุลเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าวว่า ผู้ประกอบการเริ่มมีมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจ เกิดจาก 1. การท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามเป้า จากเหตุการณ์ที่สยามพารากอน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน 2. ความกังวลและกลัวว่าน้ำจะไม่พอ จากเอลนีโญ และ 3. มาตรการกระตุ้นของรัฐยังไม่เห็นผล หรือยังไม่ค่อยมี
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงสุญญากาศของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ ด้วยการส่งออกที่ไม่โดดเด่นที่เพิ่งกลับมาบวกแค่สองเดือน โดยคาดว่าไตรมาส 4/66 เศรษฐกิจไทยโตประมาณ 4% แต่ไม่สามารถพยุงหรือประคองกำลังซื้อได้ และกำลังซื้อที่หายไปจากหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง นอกจากนี้ ยังมีความกังวลต่อนโยบายของภาครัฐที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งค่าไฟ และค่าแรง