สุริยะ ผุด 72 โครงการอภิมหาโปรเจ็คต์
• ดำเนินการตามนโยบาย Quick win ทุกมิติ
• สั่งตั้งคณะกรรมการติดตามงานทุกเดือน
• ทางยกระดับ”บ้านแพ้ว-ปากท่อ”เสร็จปี 2574
คมนาคมวางแผนลุกโครงการยักษ์ เปิด 72 โครงการประกอบด้วย โครงการด้านคมนาคมขนส่งที่มีความสำคัญเชิงพื้นที่ 13 โครงการ บก 29 โครงการ ราง 22 โครงการ อากาศ 4 โครงการและน้ำ 4 โครงการ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินโครงการสำคัญตามนโยบายว่า กระทรวงคมนาคม ได้รวบรวมโครงการที่อยู่ในแผนงานการพัฒนาเพื่อผลักดันให้เป็นไปตามนโยบาย Quick win ทุกมิติ ทั้งทางด้านการขนส่งทางบก ทางราง ทางอากาศ และทางน้ำ จำนวน 72 โครงการ ซึ่งให้แต่ละหน่วยงานจัดทำแผนการดำเนินงาน กรอบเวลา (ไทม์ไลน์) เริ่มต้นและแล้วเสร็จ
โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามฯ มี รมว.คมนาคม เป็นประธาน และมี รมช.คมนาคม คือ นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ เป็นรองประธานและมีเลขานุการ รมว.คมนาคม โฆษกกระทรวงฯ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ และหัวหน้าหน่วยงานกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการ เพื่อติดตามเร่งรัดตรวจสอบการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานและกรอบเวลา ซึ่งจะติดตามงานทุกเดือน
ทั้งนี้ ในวันที่ 20-21 ธ.ค.66 กระทรวงคมนาคม จะจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม ปี 2567-2568 เพื่อลงรายละเอียดแผนงานของโครงการต่างๆ ให้ชัดเจน โดยย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินโครงการสำคัญให้สำเร็จตามแผน ซึ่งจะติดตามตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งใน 72 โครงการมีทั้งโครงการที่ใช้งบประมาณ และโครงการที่ร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) สำหรับ 72 โครงการประกอบด้วย โครงการด้านคมนาคมขนส่งที่มีความสำคัญเชิงพื้นที่ 13 โครงการ, ด้านทางบก 29 โครงการ, ทางราง 22 โครงการ, ทางอากาศ 4 โครงการ, ทางน้ำ 4 โครงการ
กลุ่มเชิงพื้นที่ 13 โครงการ เช่น สนามบินกระบี่ ขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร จาก 4 ล้านคน/ปี เป็น 8 ล้านคน/ปี จะเสร็จปลายปี 2567, โครงการขยายช่องทางจราจรทางหลวง 4027 ช่วง บ.พารา-บ.เมืองใหม่ เสนองบปี 2567 กำหนดเสร็จปี 2570 ,ขยายสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 รองรับจาก 12.5 ล้านคน/ปี เป็น 18 ล้านคน/ปี , การก่อสร้างท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานพังงา) และการสร้างทางพิเศษ สายกระทู้-ป่าตอง ส่วนโครงการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ และพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และระบบขนส่งมวลชน จังหวัดเชียงใหม่
ส่วนโครงการทางบก เช่น โครงการ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) , สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา (M7) การจัดหารถ EV ของ บขส. และ ขสมก. และโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ระยะที่ 1 หรือโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) (Double Deck)
นายสุริยะ กล่าวว่า โครงการสำคัญที่ให้กรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัด คือ โครงการทางยกระดับ “บ้านแพ้ว-ปากท่อ” ซึ่งเป็นส่วนต่อจากทางยกระดับ “บางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว” ที่ปัจจุบันกำลังก่อสร้าง เพื่อให้ขยายเส้นทางไปถึงวังมะนาว ให้แล้วเสร็จในปี 2574 ทำให้การเดินทางต่อเชื่อมสมบูรณ์ และเร่งรัดมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ปากท่อ (M8) ให้แล้วเสร็จในปี 2575 เพื่อแก้ปัญหาจราจรบนถนนเพชรเกษม
นายสุริยะ กล่าวว่า “กรมทางหลวงรายงานว่า ช่วง ปากท่อ-ชะอำ มีประชาชนในพื้นที่เป็นห่วงเรื่องเวนคืน จึงให้ไปเจรจากับประชาชน เพราะจะเป็นเส้นทางแนวใหม่ ที่รองรับปริมาณรถลงสู่ภาคใต้ และช่วยลดภาระของถนนพระราม 2 และมอเตอร์เวย์ 82 (ทางยกระดับพระราม 2) และโครงข่ายยังต่อเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) อีกด้วย”
นอกจากนี้ ในเทศกาลปีใหม่ 2567 จะเปิดให้ใช้บริการฟรีในเส้นทางมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ช่วงวันที่ 28 ธ.ค. 2566 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป
สำหรับโครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางราง เช่น โครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โครงการตั๋วร่วม Feeder เข้าสู่รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง และ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง ทั้งนี้ การศึกษาการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง (Feeder) เพื่อรองรับการเดินทางเข้าสู่สถานีขนส่งโดยสาร สถานีรถไฟฟ้ากับพื้นที่โดยรอบหรือระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น และได้รับความสะดวก โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ศึกษาระบบ Feeder จำนวน 26 เส้นทาง เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง – สีแดง (เพิ่มเติม) ผลการศึกษาใกล้แล้วเสร็จ โดยผลการหารือ แบ่งเป็น
กรณีที่ 1 – เส้นทางที่มีการตัดระยะทางบริการให้สั้นลง และเส้นทางที่ ขบ. ได้ปรับเส้นทางแล้ว (3 เดือน)
กรณีที่ 2 – เส้นทางที่มีการต่อแนวการให้บริการในจุดการเดินทางที่สำคัญ ไม่มีความซับซ้อนในการดำเนินการ (6 เดือน)
กรณีที่ 3 – เส้นทางที่จำเป็นต้องมีการศึกษาในรายละเอียดของการดำเนินงาน เช่น ความคุ้มค่าทางการเงินต่างทับซ้อนกับเส้นทางที่มีผู้ให้บริการเดิมหลายราย (23 เดือน)
กรณีที่ 4 – เส้นทาง Feeder 26 เส้นทาง ที่รองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีแดง (9 – 29 เดือน แล้วแต่กรณี)
ทั้งนี้ สนข. และ ขบ. จะสำรวจเส้นทางร่วมกัน คาดว่าประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธ.ค.2566 และภายหลังประมวลเส้นทางชัดเจนแล้ว ขบ. จะพิจารณานำไปประกาศฯ เพื่อเสนอเป็นเส้นทางสำหรับการให้บริการต่อไป
ส่วนทางอากาศ เช่น การเตรียมความพร้อมการกลับเข้า FAA CAT I การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานดอนเมือง การพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 และการเตรียมความพร้อมการตรวจของ ICAO
โครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งทางน้ำ เช่น การพัฒนา Smart Pier ในแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมบัง ระยะที่ 3 และการศึกษาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal)
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า นโยบายของ รมว.คมนาคม ในการเร่งผลักดันโครงการมอเตอร์เวย์ ช่วงบ้านแพ้ว-ปากท่อ (M82) สิ้นสุดที่วังมะนาว ระยะทาง 47 กม. วงเงินลงทุน 53,219 ล้านบาท (ค่าก่อสร้างงานโยธา 52,913 ล้านบาท ค่าเวนคืน 306 ล้านบาท) สถานะโครงการ การศึกษาความเหมาะสม (FS) ออกแบบรายละเอียด และรายงาน EIA เสร็จแล้ว เตรียมเสนองบประมาณปี 2567 เพื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม
ส่วนมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ปากท่อ (M8) ระยะทาง 61 กม. วงเงินลงทุน 43,227.16 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 29,156 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,783.29 ล้านบาท ค่าเวนคืน 12,287.87 ล้านบาท จะดำเนินการก่อนเนื่องจากไม่ติดปัญหาเรื่องพื้นที่ โดยมีแผนก่อสร้างในปี 2569-2572 ใช้รูปแบบ PPP Gross-Cost รัฐลงทุนงานโยธา และเอกชนลงทุนงานระบบ O&M โดยรัฐเป็นเจ้าของรายได้ โดยจะนำเสนอ ครม.ในปี 2567