“วิทัย” โชว์ออมสินกำไรพุ่ง 3.3 หมื่นล้านบาท
• ลดต้นทุนขององค์กรลงได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท
• ยันอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันต่ำกว่าท้องตลาด 0.75%
• ตั้งนอนแบงก์เปิดนาโนไฟแนนซ์ ดอกเบี้ย 18%
ธนาคารออมสิน คาดสิ้นปีนี้ จะมีกำไรประมาณ 33,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีกำไร 27,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นกำไรจากการบริหารงาน การดำเนินธุรกิจใหม่ และการลดต้นทุน ไม่ได้เกิดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
นายวิทัย กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ผมสามารถลดต้นทุนของธนาคาร จากระดับ 42,000 ล้านบาท ลดลงเหลือ 32,000 ล้านบาท หายไป 10,000 ล้านบาท ที่ผมสามารถประหยัดได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อพนักงานและธนาคารแต่อย่างใด
“การประหยัด หรือลดต้นทุนลง 10,000 ล้านบาท หรือปีละ 10,000 ล้านบาท มันมหาศาลมาก” นายวิทัย กล่าวและย้ำว่า
“รายได้หลักของออมสินยังคงมาจากการปล่อยสินเชื่อ แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้จากมาจากอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น เพราะเราไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลยในช่วงที่ผ่านมา โดยประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยเราเรียกเก็บจากลูกค้าของธนาคารต่ำกว่า ระบบถึง 0.75%”
นอกจากนี้ เรายังมีรายได้เสริมที่เพิ่มเติมเข้ามาอีก ซึ่งกำลังจะเป็นรายได้ที่มีก้อนใหญ่ขึ้นคือ รายได้จากธุรกิจที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สามารถช่วยลดดอกเบี้ยในตลาด จากที่ประมาณ 28% เหลือ 18% ต่อปี
รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อมีที่มีเงิน ปล่อยกู้ไปมากกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และในปีหน้า ธนาคารจะตั้งบริษัทลูกเพื่อทำธุรกิจนอนแบงก์ ตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อนาโนไฟแนซ์ จากปัจจุบันที่เรียกเก็บ 33% เหลือประมาณ 28% ต่อปี
นายวิทัย กล่าวว่า ตลอด 3 ปีครึ่งที่ตนรับตำแหน่ง ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ออกไปมากกว่า 60 โครงการ และในช่วงโควิด 19 แพร่ระบาด ธนาคารได้ช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้นกว่า 3 ล้านราย ทำให้ฐานลูกค้ารวมของเราใหญ่ขึ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้คือ ธนาคารได้เอาประเด็น ที่เป็นปัญหาของสังคม ไปใส่ในทุกโปรดักส์ทางการเงินของธนาคาร เช่น เรื่องของสินเชื่อที่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยกู้ลง เพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือนและยังทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวและกล่าวว่า
“การดำเนินกลยุทธ์ แบบนี้ ทำให้ฐานลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น จาก 1.5 ล้านราย เป็นมากกว่า 3.57 ล้านคนในปีนี้ ขณะที่ หนี้เสียของธนาคารยังอยู่ในระดับที่ต่ำราว 3.2-3.4% ของยอดสินเชื่อคงค้าง”
นอกจากนี้ ธนาคารยังคงดำเนินนโยบายช่วยเหลือสังคม โดยเปลี่ยนจากโครงการที่เรียกว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility ซึ่งเป็นโครงการระยะสั้น ดำเนินการเพียง 1-2 ครั้งก็ปิดตัว เปลี่ยนมาเป็น CSV หรือ Creating Shared Value ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ และความยั่งยืนให้แก่ธนาคารและรวมถึงทุกภาคธุรกิจ โดยนำกำไรจากผลิตภัณฑ์หนึ่งไปลดอัตราดอกเบี้ย หรือนำเพื่อช่วยเหลืออีกโครงการหนึ่ง เหมือนกับสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากโควิด เป็นต้น