สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 18 พ.ย. 66
สภาพอากาศวันนี้ :มวลอากาศเย็นกำลังแรงปกคลุมประเทศไทย ทำให้ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นกับมีลมแรง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 18–20 พ.ย. 66 มวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยทำให้ตอนบนอุณหภูมิลดลง โดยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 16.พ.ย. 66 น้อยกว่า ปี 65 จำนวน 3,868 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 64,128 ล้าน ลบ.ม. (78%)
ปริมาณน้ำใช้การ 39,961 ล้าน ลบ.ม. (69%)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมสูงสูด 11 แห่ง ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อยบำรุงแดนและบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุบลรัตน์ และลำปาว ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล และหนองปลาไหล
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมต่ำสุด 4 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันออก : คลองสียัด
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา พัทลุง สุราษฎร์ธานี ระนอง และปัตตานี
ประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2566 ลงวันที่ 12 พ.ย. 66 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 14 – 18 พ.ย. 2566 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% บริเวณ จ.ระนอง และสุราษฎร์ธานี และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ
สทนช. ยุติการดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคกลาง ครั้งที่ 40/2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์น้ำในขณะนี้ตลอดจนปริมาณฝนตกในพื้นที่ลดลง ไม่ส่งผลกระทบต่อ ปริมาณน้ำในพื้นที่ ระดับน้ำล้นตลิ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ก็มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถควบคุมและบริหารจัดการให้อยู่ในสภาวะปกติ
ที่ประชุมจึงมีมติขอยุติการดำเนินงานของศูนย์บริหารจัดการน้ำ ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. 2566 เป็นต้นไป โดย สทนช. จะนำข้อเสนอแนะของหน่วยงานในคณะทำงานฯ และความเห็นของประชาชนไปวางแผนปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการการสำรวจ ตรวจสอบความเสียหาย และฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วต่อไป
น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน