สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 9 พ.ย. 66
สภาพอากาศวันนี้ :บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์:ในช่วงวันที่ 10 – 11 พ.ย. 66 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 8.พ.ย. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 4,188 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 64,017 ล้าน ลบ.ม. (78%)
ปริมาณน้ำใช้การ 39,847 ล้าน ลบ.ม. (69%)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
เฝ้าระวังน้ำมาก 10 แห่ง ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อยบำรุงแดน และบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุบลรัตน์ และลำปาว ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล
ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
เฝ้าระวังน้ำน้อย 2 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ภาคตะวันออก : คลองสียัด
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
มาตรการและการช่วยเหลือ
กรมชลประทาน ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ขนาด 4 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณชุมชน
บ้านทัพไทย ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี และ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 4 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณชุมชนท่ากอไผ่ อำเภอวารินชำราบ เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังช่วยเหลือบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และดำเนินการกำจัดผักตบชวา
วัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณคลองสำโรง ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา และคลองสายยู ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย
ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาการเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 30 และการประชุมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กับหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 28 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย. 66
ซึ่งมีกรอบการหารือที่สำคัญ ได้แก่ 1) องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุม และ 2) การอนุมัติ TOR ของผู้บริหารสูงสุดของสำนักเลขาธิการกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS CEO) เพื่อสรรหาคนของประเทศไทยเข้ารับตำแหน่ง โดยจะดำเนินการสรรหาในปี 2567 และเข้าดำรงตำแหน่งในปี ม.ค. 2568 – ม.ค. 2571 ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบการหารือในการประชุมดังกล่าว พร้อมมอบหมายให้ สทนช. เสนอต่อ ครม. ให้ความเห็นชอบ และให้เสนอองค์ประกอบของคณะผู้แทนไทย ต่อ ครม. เพื่อทราบในคราวเดียวกัน พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อการปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยเพิ่มผู้แทน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การให้ข้อคิดเห็นด้านวิชาการและการพิจารณากำหนดท่าทีของฝ่ายไทยในการประชุมเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และครอบคลุมทุกมิติ
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วง 1-3 วัน บริเวณ –ไม่พบพื้นที่เสี่ยง