สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 ต.ค. 66

สภาพอากาศวันนี้ : บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนอง
คาดการณ์: ในช่วงวันที่ 30 ต.ค.-2..พ.ย. 66-บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 27 ต.ค. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 5,835 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 62,634 ล้าน ลบ.ม. (76%)
ปริมาณน้ำใช้การ 38,465 ล้าน ลบ.ม. (66%)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
เฝ้าระวังน้ำมาก 9 แห่ง ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก และบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : หนองหาร และอุบลรัตน์ ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์
ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
เฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา ภาคตะวันออก : คลองสียัด ภาคตะวันตก : ปราณบุรี
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย และภาคใต้ จ.ตรัง นราธิวาส และยะลา
สถานการณ์อุทกภัย
พื้นที่ชุมชน รวม 2 จังหวัด 12 อำเภอ 68 ตำบล 147 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,341 ครัวเรือน ดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
แนวทางการบริหารจัดการน้ำ
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 66 สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดประชุมประชาคมรับฟังความคิดเห็นขับเคลื่อนคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติส่วนหน้า อว. (ภาคเหนือตอนบน) ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท เชียงใหม่ โดยมี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ผู้ช่วยศาตราจารย์ ทพ. พิริยะ เชิดสถิรกุล กล่าวต้อนรับ พร้อมวิทยากรบรรยายพิเศษ
หัวข้อ “ความสำคัญของคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติส่วนหน้า อว. (ภาคเหนือตอนบน) สำหรับบริหารจัดการน้ำในทุกระดับและร่วมสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน” โดย รองศาสตราจารย์ ชูโชค อายุพงศ์
หัวข้อ “การจัดการน้ำชุมชนสู่ความเข้มแข็งองค์กรผู้ใช้น้ำและการจัดการน้ำของประเทศ” โดย ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน. และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชิตชล ผลารักษ์
พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติส่วนหน้าฯ ที่ตอบโจทย์และสะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมจากสำนักปลัดกระทรวงฯ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 1 ผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ผู้แทนเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ องค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน โขงเหนือ และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
+มาตรการและการช่วยเหลือ
กรมชลประทาน ดำเนินการเก็บผักตบชวา เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ บริเวณพื้นที่ คลองสาย 1 ตำบลองครักษ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี คลองส่งน้ำสายใหญ่ 1 ขวา ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง และคลองผักไห่-เจ้าเจ็ด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา