กรมศุลจับเฮโรอีนมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท
กรมศุลกากรตรวจยึดเฮโรอีนลักลอบส่งออกล็อตใหญ่ และยาเสพติดประเภทอื่นลักลอบส่งออกและนำเข้าในเดือนตุลาคม 2566 มูลค่ากว่า 50.90 ล้านบาท
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร แถลงข่าว กรมศุลกากรตรวจยึดยาเสพติดลักลอบส่งออกและนำเข้าราชอาณาจักร ประจำเดือนต.ค. 2566 ร่วมด้วย นายพีรพงศ์ รำพึงจิตต์ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการข่าวและปราบปรามยาเสพติด 6 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พันเอก มารุต เปล่งขำ ผู้อำนวยการกอง 12 สำนักปฏิบัติการข่าว ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย พันตำรวจเอก อดิศ เจริญสวัสดิ์ รอง ผบก.ปส.3 กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และ Mr. Michael Cymbarista Superintendent Australian Border Force ที่ปรึกษาสำนักงานพิทักษ์เขตแดน แห่งออสเตรเลีย ประจำภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ณ ศูนย์แถลงข่าว กรมศุลกากร (คลองเตย)
นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรเฝ้าระวังการลักลอบการขนส่งยาเสพติด ผ่านการขนส่งทางไปรษณีย์และพัสดุทั้งภายในและภายนอกประเทศทางอากาศยาน และช่องทางอื่น ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาล โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2566 กรมศุลกากรร่วมกับชุดปฏิบัติการ AITF (AIRPORT INTERDICTION TASK FORCE) ประกอบด้วย กรมศุลกากร ป.ป.ส. บช.ปส. ศรภ. และ AFP เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำยาเสพติดที่ซุกซ่อนมาในไปรษณีย์และพัสดุเตรียมส่งออกและนำเข้าราชอาณาจักร ล่าสุดกรมศุลกากรได้ตรวจยึดยาเสพติดที่มีการลักลอบส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ศุลกากรและชุดปฏิบัติการ AITF ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องจำกัดออกนอกราชอาณาจักร พบพัสดุด่วนพิเศษระหว่างประเทศ ปลายทางประเทศออสเตรเลีย สำแดงชนิดสินค้า เป็นกรอบรูปภาพ จำนวน 1 กล่อง มีความเสี่ยงสูง จึงทำการเปิดตรวจกล่องพัสดุ พบว่า กรอบรูป มีลักษณะที่ผิดปกติ จึงทำการตรวจสอบ ผลปรากฏว่าพบยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 เฮโรอีน (Heroine) ซุกซ่อนอยู่ภายในช่องลับที่สร้างขึ้นภายในกรอบรูปไว้สำหรับตบตาเจ้าหน้าที่ จำนวน 5,954 กรัม รวมมูลค่า 17,892,000 บาท
นอกจากนั้น กรมศุลกากรยังเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้ายาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 เจ้าหน้าที่ศุลกากรและชุดปฏิบัติการ AITF ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบนำเข้าของต้องห้ามต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักร พบพัสดุขาเข้าระหว่างประเทศ ประเทศต้นทางจากเยอรมนี สำแดงชนิดสินค้าเป็นของเล่น มีความเสี่ยงสูงจึงทำการเปิดตรวจกล่องพัสดุ พบยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 MDMA (ECSTACY) ซุกซ่อนในซองพลาสติกทึบแสงสีเงิน และอยู่ภายในกล่องของเล่น จำนวน 990 กรัม รวมมูลค่าประมาณ 5,940,000 บาท ซึ่งภายหลังการตรวจยึด ชุดปฏิบัติการ AITF ได้พยายามดำเนินการขยายผลไปยังผู้รับพัสดุดังกล่าว แต่ผู้รับไหวตัวไม่แสดงตนรับพัสดุจึงยกเลิกภารกิจดังกล่าว และนำของกลางที่ตรวจยึดส่งพนักงานสอบสวนต่อไป
ผลงานการตรวจยึดยาเสพติดให้โทษในเดือนต.ค. 2566 มีรายละเอียดดังนี้
วันที่ 4 ต.ค. 2566
เจ้าหน้าที่ศุลกากรและชุดปฏิบัติการ AITF ร่วมกันตรวจยึดพัสดุขาออกระหว่างประเทศ ระบุปลายทางสาธารณรัฐเกาหลี ตรวจพบเป็น ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ลักษณะเป็นเม็ดสีแดงและสีเขียวบรรจุอยู่ในถุงซิปล็อค ซุกซ่อนในถุงขนมยี่ห้อต่าง ๆ จำนวนประมาณ 22,300 เม็ด รวมมูลค่า 669,000 บาท
วันที่ 5 ต.ค. 2566
เจ้าหน้าที่ศุลกากรและชุดปฏิบัติการ AITF ร่วมกันตรวจยึดพัสดุขาออกระหว่างประเทศ เตรียมส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย สำแดงชนิดสินค้าเป็นหนังสือ โดยมีการซุกซ่อนยาไอซ์ อยู่ภายในปกหนังสือทั้งด้านหน้าและหลัง จำนวน 740 กรัม รวมมูลค่ากว่า 444,000 บาท
วันที่ 6 ต.ค. 2566
เจ้าหน้าที่ศุลกากรและชุดปฏิบัติการ AITF ร่วมกันตรวจยึดพัสดุขาออกระหว่างประเทศ
เตรียมส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย สำแดงชนิดสินค้าเป็นอุปกรณ์กีฬา โดยมีการซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 เฮโรอีน (Heroine) อยู่ภายในของม้วนผ้าก๊อซ จำนวน 811 กรัม รวมมูลค่ากว่า 2,433,000 บาท
วันที่ 13 ต.ค. 2566
เจ้าหน้าที่ศุลกากรและชุดปฏิบัติการ AITF ร่วมกันวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร พบผู้โดยสารชาย สัญชาติเซียร์ราลีโอน เดินทางมาจากเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน ภายในร่างกายโดยวิธีการกลืน น้ำหนักรวมสิ่งของหุ้มประมาณ 475 กรัม และพบโคคาอีนซุกซ่อนอยู่ภายในรองเท้าจำนวน 2 คู่ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 1,475 กรัม รวมตรวจพบโคคาอีน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 1,950 กรัม มูลค่า 5,850,000 บาท
วันที่ 17 ต.ค. 2566
เจ้าหน้าที่ศุลกากรและชุดปฏิบัติการ AITF ร่วมตรวจยึดพัสดุขาออกระหว่างประเทศ 2 ชิปเม้น ดังนี้
1. ตรวจยึดพัสดุขาออกระหว่างประเทศ เตรียมส่งไปยังประเทศออสเตรเลีย มีการสำแดง ชนิดสินค้าเป็นโมเดลทำด้วยเรซิ่น มีการซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 เฮโรอีน (Heroine) ไว้ใต้ฐานรูปหล่อเรซิ่นที่มีการหล่อขึ้นมาใหม่ พบเฮโรอีน จำนวน 2,050 กรัม มูลค่า 6,150,000 บาท
2. ตรวจยึดพัสดุขาออกระหว่างประเทศ เตรียมส่งไปยังประเทศออสเตรเลีย มีการสำแดง ชนิดสินค้าเป็นโมเดลทำด้วยเรซิ่น มีการซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 เฮโรอีน (Heroine) ไว้ใต้ฐานรูปหล่อเรซิ่นที่มีการหล่อขึ้นมาใหม่ พบเฮโรอีน จำนวน 2,010 กรัม มูลค่า 6,030,000 บาท
รวมตรวจพบเฮโรอีนทั้งสิ้น 4,060 กรัม มูลค่า 12,180,000 บาท
วันที่ 19 ต.ค. 2566
เจ้าหน้าที่ศุลกากรและชุดปฏิบัติการ AITF ร่วมตรวจยึดพัสดุขาออกระหว่างประเทศปลายทางประเทศออสเตรเลีย จำนวน 3 ชิปเม้น ดังนี้
1. สำแดงชนิดสินค้าเป็นหนังสือ มีการซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 เฮโรอีน (Heroine) ภายในปกหนังสือทั้งด้านหน้าและหลัง น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 755 กรัม รวมมูลค่ากว่า 2,265,000 บาท
2. สำแดงชนิดสินค้าเป็นภาพโปสเตอร์ มีการซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 เฮโรอีน (Heroine) ไว้ภายในภาพ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 770 กรัม รวมมูลค่ากว่า 2,310,000 บาท
3. สำแดงชนิดสินค้าเป็นของเล่น มีการสร้างช่องลับเพื่อซุกซ่อนยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 1 เฮโรอีน (Heroine) ภายในระหว่างแผ่นโฟมปูพื้นกันกระแทก น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 307 กรัม รวมมูลค่ากว่า 921,000 บาท
รวมการตรวจยึดยาเสพติดในเดือนตุลาคม 2566 ทั้งสิ้น จำนวน 11 ราย มูลค่า 50,904,000 บาท
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า สำหรับสถิติการจับกุมยาเสพติด ปีงบประมาณ 2565 – 2566 มีรายละเอียดดังนี้ สถิติการจับกุมยาเสพติด ปีงบประมาณ 2565 มีจำนวนผู้กระทำความผิด 144 ราย มูลค่า 2,565,953,930 บาท ปีงบประมาณ 2566 มีจำนวนผู้กระทำความผิด 185 ราย มูลค่า 1,172,166,180 บาท ซึ่งกรมศุลกากรจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจยาเสพติดและจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลในการติดตามหาผู้กระทำความผิดอย่างเร่งด่วนต่อไป เพื่อปกป้องสังคมไทยและสังคมโลกให้ปลอดภัยจากยาเสพติด ตามนโยบายของรัฐบาล