สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 ต.ค. 66
สภาพอากาศวันนี้ : ลมฝั่งตะวันออกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกและอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ กับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทยตอนล่างทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์: ช่วงวันที่ 26 – 29 ต.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
พายุไซโคลน “ฮอมูน” (HAMOON) บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศบังคลาเทศ ในช่วงวันที่ 25–26 ต.ค. 66 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 24 ต.ค. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 6,164 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 61,264 ล้าน ลบ.ม. (74%) ปริมาณน้ำใช้การ 37,097 ล้าน ลบ.ม. (64%)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
เฝ้าระวังน้ำมาก 10 แห่ง ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก และบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ห้วยหลวง หนองหาร และอุบลรัตน์ ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล
ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
เฝ้าระวังน้ำน้อย 3 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา ภาคตะวันออก : คลองสียัด ภาคตะวันตก : ปราณบุรี
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
สถานการณ์อุทกภัย
พื้นที่ชุมชน รวม 2 จังหวัด 13 อำเภอ 69 ตำบล 448 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,741 ครัวเรือน ดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
พื้นที่เกษตรกรรม รวม 15 จังหวัด 237,765 ไร่ ได้แก่ จ.อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ประกาศ / แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ
เนื่องจากระหว่างวันที่ 20 – 22 ต.ค. 66 มีฝนตกหนักในพื้นที่จ.สุพรรณบุรี ปริมาณฝนสะสมเฉลี่ย 3 วัน วัดได้ 35.6 มิลลิเมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำเข้าสู่แม่น้ำท่าจีนในอัตรา 170 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับในช่วงวันที่ 24 – 29 ต.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น วันที่ 23 ต.ค. 66 ระดับน้ำด้านหน้าประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา มีระดับ +6.00 ม.รทก. ระดับตลิ่ง +6.20 ม.รทก. ระดับน้ำท้ายประตูโพธิ์พระยามีระดับ +4.10 ม.รทก. ระดับตลิ่ง +4.20 ม.รทก. และยังคงมีการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะส่งผลให้บริเวณพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำท่าจีน และพื้นที่ลุ่มด้านท้ายของประตูระบายน้ำโพธิ์พระยามีระดับน้ำสูงขึ้น ประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำท่าจีนในเขต อ.เมือง อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และหากไม่มีฝนตกในพื้นที่ลงมาเพิ่มเติมคาดว่าสถานการณ์น้ำจะค่อย ๆ ลดลงจนเข้าสู่สภาวะปกติ
กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและปฏิบัติการเดินเครื่องสูบน้ำพร้อมติดตั้งเพิ่มเติม บริเวณชุมชนท่ากอไผ่ และชุมชนดอนงิ้ว อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเร่งสูบระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ประสบอุทกภัย
กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการทำคันดินกั้นป้องกันน้ำและติดตั้งตาข่ายดักขยะ/ปิดบ่อขยะ และประสานส่งขยะไปกำจัด ณ อบต.พรหมณี ต.พรหมณี อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก