คลังสั่งออมสินตั้งเอเอ็มซี

คลังเร่งแก้หนี้ครัวเรือน สั่งธนาคารออมสิน จุดพลุตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซี สางหนี้เน่าแบงก์ให้สำเร็จ หลังจากนั้น ขยายวงกว้างสางหนี้แบงก์รัฐแห่งอื่นๆ ต่อไป หวังกดหนี้ครัวเรือนลดวูบ!!

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็มพีแอล ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งยังเป็นที่มาของหนี้ครัวเรือนด้วย โดยช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนของไทย ปรับทะลุ 90% ของจีดีพี โดยมาอยู่ที่ 90.7% ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าว จะส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ตนจึงมีแนวคิดที่จะตัดหนี้เน่า หรือหนี้เสียเหล่านี้ นำออกมาบริหารอย่างจริงจังโดยจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซี ของรัฐแบงก์ ขึ้นมาโดยตรง
“ขณะนี้ ได้สั่งให้ธนาคารออมสินรีบไปดำเนินการแล้ว” รมช.คลัง กล่าว และยังกล่าวต่อว่าในอนาคตหากธนาคารออมสินทำเสร็จ ก็จะให้เป็นแกนนำในการดูแลหนี้เสียของประชาชนให้ลดลง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ส่วนลูกหนี้ที่ดีนั้น ได้กำชับให้ธนาคารเฉพาะกิจ เข้าไปดูแลด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อ ที่จะเสียอัตราดอกเบี้ยน้อยลง เพราะหากอัตราดอกเบี้ยถูกลง เงินงวด หรือเงินต้นที่ส่งไป จะลดหนี้ จากยอดหนี้ทั้งหมดได้เร็วขึ้น
รมช.คลัง กล่าวว่า กฎหมายของธนาคารออมสินสามารถแยกหนี้เน่าออกมาจากหนี้ดีได้เลย แต่ไม่ได้หมาย ความว่า จะขายหนี้ไปให้เอเอ็มซีเอกชน โดยในหลักการ หากแยกหนี้เน่าออกมา ก็คำนวณตีราคาสินทรัพย์ว่า มีเท่าไหร่ เช่น 5,000 ล้านบาท เอเอ็มซีก็ออกตั๋วเงินให้ธนาคาร 5,000 ล้านบาท และเมื่อบริหารสินทรัพย์แล้ว เหลือเท่าไหร่ ก็ส่งคืนให้ธนาคารออมสิน โดยไม่ต้องคิดกำไร หรือค่าธรรมเนียม
“แนวทางบริหารหนี้เช่นนี้ เคยทำมาแล้วเมื่อปี 2540 สมัยฟองสบู่แตก โดยที่รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปสนับสนุนค่าบริการเพิ่มเติม เนื่องจาก สามารถใช้หลักการเอเอ็มซี บริหารจัดการได้เลย ซึ่งได้มอบนโยบายให้ออมสินแล้วในเบื้องต้น โดยให้ออมสินไปพิจารณารายละเอียดแนวทางการดำเนินการ และจะกลับมาหารือร่วมกันอีกครั้ง”
ทั้งนี้ รมช.คลัง ยืนยันว่า แนวทางการดำเนินการดังกล่าว จะช่วยลดภาระหนี้สินให้กับประชาชน กรณีลูกหนี้ดีก็จะได้รับการลดเงินต้น หมดภาระหนี้สินได้เร็วขึ้น ขณะที่ ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ก็จะได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้เสียได้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน
ขณะนี้ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า พร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของกระ ทรวงการคลัง โดยขอเวลาในการศึกษารายละเอียดอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งในหลักการแล้ว การแยกหนี้เน่าออกจากธนาคารออมสิน สามารถดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขและระเบียบของธนาคาร