บีโอไอ หวานเจี๊ยบ!! ยันไม่ทิ้งรถยนต์ญี่ปุ่น
บีไอไอ ยันไม่ทิ้งอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น แม้ไทยจะให้ความสำคัญกับ EV มากขึ้นก็ตาม แต่ในอนาคต หรือ ปี2030 รถเครื่องยนต์สันดาป ยังมียอดการผลิตที่ระดับ 70% ของการผลิตรถยนต์ทั้งประเทศ พร้อมทั้งเผยบอร์ดบีโอไอ ประชุมนัดแรก ไฟเขียวการลงทุน 4.1 หมื่นล้านบาท
“นักลงทุนญี่ปุ่นไม่ต้องกังวล แม้ประเทศไทยจะมีนโยบายเรื่องการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า ไทยจะไม่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพราะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป ยังมีทั้ง HEV PHEV ที่พัฒนาต่อไปได้” นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีไอโอ กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น ในงานแถลงข่าวของบีโอไอ เมื่อวันที่พุธที่ 11 ต.ค.2566
สำหรับ แผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมยนต์ของบีโอไอเป็น 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของบีโอไอ โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ของโลกหรือติด TOP 10 ของโลก และ ยังเป็น อันดับ 1 ของอาเซียน โดยกำหนดผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ 30% ภายในปี 2030 อีก 70% ยังเป็นรถยนต์ ที่ใช้เครื่องยนต์นดาป โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บีโอไอ ได้ส่งเสริมรถยนต์ที่ใช้ ไฮโดรเจน เป็นพลังงาน ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น
“ทั้งนี้ 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG (โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงานสะอาด) อุตสาหกรรมยานยนต์ (โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะต้นน้ำและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ) อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ” เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวและกล่าวว่า
“แผนงานของบีโอไอ จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว และได้เข้าพบหลายบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น ไมโครซอฟต์ กูเกิ้ล เป็นต้น ถือเป็นโอกาสที่ดีของไทยนายกรัฐมนตรีที่นำไปพบกับบริษัทเป้าหมายด้วยตัวเอง และได้รับฟังแนวนโยบายต่างๆ จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติได้”
และหลังจากกลับจากสหรัฐฯ เรายังได้ตั้งทีมทำงานร่วมกัน โดยบีโอไอได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ สำหรับโครงการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อทำงานประกบร่วมกับทีมทำงานของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำให้โครงการที่ได้หารือกันไว้เป็นความจริงขึ้นมาได้
นอกจากนี้ ในเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้ นายกรัฐมนตรีจะเดินไปยังประเทศสหรัฐฯ อีกครั้ง เพื่อร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ที่ซานฟรานซิสโก และถือเป็นการติดตามโครงการต่างๆ ที่ได้หารือกันในนิวยอร์ก จะมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ส่วนกรณีนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประเทศจีนสัปดาห์หน้านั้น บีโอไอเตรียมจะจัดสัมมนา การลงทุนใหญ่ที่นครหลวงปักกิ่ง เป็นการฉายให้นักลงทุนจีนมองเห็นศักยภาพและความพร้อมของไทย ในการเป็นแหล่งการรองรับการลงทุนจากจีน รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งจากบีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อนำเสนอให้เห็นภาพและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการลงทุนของฝั่งจีน
นอกจากนี้ จะจัดพบนักธุรกิจกับบริษัทเป้าหมาย โดยเฉพาะ 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิตอล ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของบีโอไอ และนอกเหนือจากการชวนบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงทุนโรงงานผลิตแล้ว ชวนมาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับไทยในระยะยาวมากกว่าการตั้งโรงงานผลิตเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ บีโอไอ ยังรายงานผลงาน หลังจากที่คณะกรรมการบีโอไอ (บอร์ด) ที่มี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ เป็นประธาน เมื่ออังคารวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติ 6 โครงการ มูลค่ากว่า 41,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก บริษัท ฉางอัน
ออโตโมบิล จำกัด มูลค่าลงทุน 8,862 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 58,000 คันต่อปี และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) 36,000 คันต่อปี
2.โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะด้วยเครื่องกังหันไอน้ำ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุน 4,892 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม กรุงเทพฯ
3.โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะด้วยเครื่องกังหันไอน้ำ บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด มูลค่าลงทุน 4,892 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช กรุงเทพฯ
4.โครงการ Data Center บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด มูลค่าลงทุน 3,586 ล้านบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
5.โครงการขนส่งทางอากาศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่าลงทุน 9,314 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องบินโดยสาร จำนวน 5 ลำ ความจุผู้โดยสารรวม 1,670 ที่นั่ง สามารถบรรทุกสินค้ารวม 303 ตัน
และ 6.โครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยว บริษัท ส้งเฉิง โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุน 9,540 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี
สำหรับสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 8 เดือน (ม.ค. – ส.ค.) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 1,375 โครงการ เพิ่มขึ้น 33% และมีมูลค่าเงินลงทุน 465,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งในแง่จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ
ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีมูลค่า 270,908 ล้านบาท จาก 533 โครงการ รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง 111,810 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 29,428 ล้านบาท ภาคเหนือ 14,281 ล้านบาท ภาคใต้ 12,529 ล้านบาท ภาคตะวันตก 11,376 ล้านบาท ตามลำดับ
ด้านคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 8 เดือนแรก มี 801 โครงการ เพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เงินลงทุน 365,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน
โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 90,346 ล้านบาทจาก 228 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ เงินลงทุน 76,437 ล้านบาท จาก 114 โครงการ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และแผ่นวงจรพิมพ์ และอันดับ 3 ได้แก่ ญี่ปุ่น เงินลงทุน 40,554 ล้านบาท จาก 156 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด ในช่วง 8 เดือนแรกมีการออกบัตรส่งเสริม 1,106 โครงการ เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เงินลงทุนรวม 288,708 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงจำนวนมากในระยะ 1 – 2 ปีข้างหน้า