สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 ต.ค. 66
ฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.นราธิวาส (115) จ.ตราด (115) จ.ขอนแก่น (95) จ.พิษณุโลก (67) จ.กาญจนบุรี (39) กรุงเทพมหานคร (34)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 54,051 ล้าน ลบ.ม. (66%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 48,339 ล้าน ลบ.ม. (68%)
สทนช. ประกาศ ฉบับที่ 1/2566 เรื่องเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 3 – 7 ต.ค. 2566 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ได้แก่ จ.เชียงใหม่ (อ.จอมทอง แม่แจ่ม อมก๋อย แม่วาง แม่แตง ฝาง ดอยเต่า ฮอด ดอยสะเก็ด และกัลยาณิวัฒนา) จ.ตาก (อ.เมืองตาก ท่าสองยาง สามเงา บ้านตาก แม่ระมาด วังเจ้า อุ้มผาง แม่สอด และพบพระ) จ.กำแพงเพชร (อ.โกสัมพีนคร คลองลาน และปางศิลาทอง) จ.ลำพูน (อ.ลี้ และทุ่งหัวช้าง) จ.แพร่ (อ.วังชิ้น และลอง) จ.ลำปาง (อ.เถิน แม่ทะ เสริมงาม และเกาะคา)
2. เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ดังนี้ แม่น้ำวัง ได้แก่ อ.สามเงา และบ้านตาก จ.ตาก แม่น้ำยม ได้แก่ อ.สวรรคโลก ศรีนคร ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และเมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย และ แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.00 -1.50 ม.
กรมทางหลวงชนบท ร่วมกับกรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักร บรรจุถุงกระสอบทรายในการวางแนวกั้นน้ำ และติดตั้งป้ายเตือน/อุปกรณ์ เพื่ออำนวยความปลอดภัยให้ผู้ใช้เส้นทาง เตรียมการรับมือสถานการณ์อุทกภัยเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเข้าช่วยเหลือประชาชนทันทีเมื่อเกิดเหตุ ให้ประชาชนสัญจรได้อย่างสะดวกปลอดภัย บนถนนสาย สท.4003 จ.สุโขทัย
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ ณ ประตูระบายน้ำโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ต่อจากนั้น เดินทางไปสถานีรถไฟบ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ เพื่อติดตามเหตุน้ำป่าทะลัก ทำให้รถไฟด่วนพิเศษตกราง พร้อมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ บ้านปง ต.ต้าผาหมอก อ.ลอง จ.แพร่
ทั้งนี้ ยังได้ประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำป่าทะลัก ในการนี้ นายชยันต์ เมืองสง
รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลภาพรวมสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ด้วย
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 2 ต.ค. 2566 ดังนี้
1. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ และวิเคราะห์คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ โดยมี พื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 3 – 7 ต.ค. 2566 ดังนี้
1.1 เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดลำพูน จังหวัดแพร่ และจังหวัดลำปาง
1.2 เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ดังนี้ แม่น้ำวัง ได้แก่ จังหวัดตาก แม่น้ำยม ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 1,200 – 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.00 – 1.50 เมตร
2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
3. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และสภาวิศวกรภายใต้คณะทำงานในการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัย อาคารและสิ่งปลูกสร้างด้านแหล่งน้ำ ร่วมลงพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำท่าแซะ ต.ท่าเคย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของอาคารและสิ่งปลูกสร้างด้านแหล่งน้ำเพื่อใช้กำหนดแนวทางในการปรับปรุงและบำรุงรักษาให้มีใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิศวกรรม เพิ่มขีดความสามารถให้วิศวกรรุ่นใหม่ ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป