ธ.ก.ส.พักหนี้เกษตรลุยล้างเอ็นพีแอลหมดเกลี้ยง
ธ.ก.ส.มั่นใจพักชำระหนี้เกษตรกรรอบนี้ ลูกหนี้ส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ขณะที่ ธนาคารเองก็จะได้เงินจากรัฐบาลมาล้างหนี้เก่าได้ด้วย
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า มาตรการพักหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย ตามมติ ครม. จะช่วยให้ลูกค้าที่เป็นเกษตรกรสามารถลดหนี้ลง ได้อย่างแน่นอน เพราะมาตรการนี้ ออกแบบมาดีกว่ามาตรการพักหนี้เดิมทั้ง 13 ครั้ง ที่ผ่านมา เนื่องจาก ในช่วงระหว่างของการพักหนี้ เกษตรกรสามารถกู้เงินเพิ่มจาก ธ.ก.ส.ได้ด้วย
“เราเป็นปราการด่านสุดท้ายให้แก่เกษตรกร หากเกษตรกรต้องการสินเชื่อ ธ.ก.ส.ก็พร้อม ที่จะปล่อยสินเชื่อใหม่ นอกเหนือจากการพักหนี้แล้ว โดยลูกหนี้สามารถขอสินเชื่อฟื้นฟูได้ไม่เกินรายละ 100,000 บาททอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ และกรณีที่ต้องการสินเชื่อใหม่ หมายถึงพักหนี้แล้วรอด จะอนุมัติสินเชื่อตามศักยภาพของลูกค้า แต่ถ้าหาก เราไม่ทำอะไรเลย คนที่พักหนี้ หากต้องการใช้เงินก็จะไปกู้เงินนอกระบบ”
นายฉัตรชัย กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อใหม่ จะทำให้ลูกหนี้สามารถนำเงินไปลงทุนในกิจการที่ตนเองมีความถนัดเพิ่มเติมได้ หรือต้องการเปลี่ยนแปลงอาชีพก็ได้ แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ที่เน้นเรื่อง บรรเทาความเดือดร้อน ไม่ได้เน้นการเปลี่ยนแปลง หรือการเพิ่มรายได้เท่ากับโครงการนี้
มาตรการนี้ จะมีเกษตรกรเข้าร่วมมากกว่า 2.7 ล้านราย พักหนี้และดอกเบี้ย รวมวงเงินกู้ทุกประเภท ไม่เกิน 300,000 บาท แต่ในจำนวนนี้ เป็นลูกหนี้เอ็นพีแอล หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 600,000 ราย มูลหนี้กว่า 36,000 ล้านบาท จากจำนวนหนี้เอ็นพีแอลทั้งหมด 780,000 รายครอบคลุมหนี้กว่า 90% โดยลูกหนี้กลุ่มนี้ หากชำระหนี้ระหว่างพักหนี้ ธ.ก.ส.จะนำเงินที่ชำระไปล้างหนี้เงินต้นก่อน 100% หลังจากนั้นถึงนำไปชำระหนี้ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมีข้อตกลงกับรัฐบาล กรณีการชำระหนี้คืน ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลังแห่งรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 28 โดยรัฐบาลจะชำระหนี้คืนทั้งหมด 2 ก้อน คือ1.หนี้ค้างเก่าจากโครงการดั้งเดิม ชำระปีละ 10% และ2.คือ หนี้จากการพักชำระหนี้ในครั้งนี้ ตามวงเงินที่ใช้จ่ายจริง เช่น ได้ใช้เงินปีนี้ 10,000 ล้านบาท รัฐบาลก็จะชำระหนี้คืน 10,000 ล้านบาท เช่นกัน
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ตามความสมัครใจ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย
มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. 2.698 ล้านราย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 – 3 เดือน) และหนี้เอ็นพีแอล ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่ 1 ต.ค25ถ66 ถึง 30 ก.ย.5267
โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นเอ็นพีแอลจะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว
การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ จะอยู่ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการ และหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว
“ได้มีการพูดคุยกับ ธปท. และ ธปท.เองก็มีความเห็นเกี่ยวกับโครงการนี้ โดยระบุว่า ไม่อยากเห็นโครงการที่ผูกพันระยะยาว รัฐบาลจึงดำเนินการเป็นเฟสๆ อนุมัติเป็นรายปีและธปท.ไม่อยากเห็นดำเนินการแบบหว่านแห เราจึงเปิดให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการแบบสมัครใจ”
ส่วนเรื่องงบประมาณที่จะใช้ในโครงการตลอด 3 ปี ประมาณ 33,000 ล้านบาท เฉลี่ยปีละราว 11,000-12,000 ล้านบาท และบวกงบเพื่อการพัฒนาศักยภาพอีก ปีละ 1,000 ล้านบาท แต่งบที่ใช้จะเป็นไปตามที่ใช้จริง จึงอยากให้ทุกฝ่ายไม่ต้องกลัวและไม่ต้องกังวลว่าเงินจะหายไปไหน โดยรัฐบาลหวังว่าเกษตรกรจะเข้าโครงการนี้เต็มเกือบ 100% รมว.คลัง กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด