สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ก.ย. 66
ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก กับมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
พายุดีเปรสชันได้อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว บริเวณเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน ในวันที่ 26-29 ก.ย.66 จะทำให้มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.ตราด (182) จ.ปทุมธานี (97) จ.ราชบุรี (96) จ.ระนอง (96) จ.แพร่ (57) จ.อุบลราชธานี (50)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 51,479 ล้าน ลบ.ม. (63%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 46,130 ล้าน ลบ.ม. (65%)
กอนช. ประกาศ ฉบับที่ 21/2566 เรื่องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำชี – มูล
จากการติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M.7 อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี คาดว่าในวันที่ 2 ต.ค. 2566 ระดับน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว ได้แก่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และ ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
กอนช.ตั้งรับสถานการณ์น้ำอีสานบูรณาการทุกหน่วยงานเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง
สทนช.ได้เร่งประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไขสถานการณ์ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะเดียวกับที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าตลิ่งบริเวณเขื่อนปากแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี จึงสามารถสูบระบายน้ำส่วนเกินลงแม่น้ำโขงได้ในอัตรามากกว่า 200 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงปรับลดการระบาย พร้อมกับปริมาณฝนตกที่ลดลง การเข้าช่วยเหลือวางกระสอบทรายกั้นน้ำ แจกสิ่งของจำเป็นแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านการสัญจร ทำให้ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ขณะที่จุดเฝ้าระวังที่สถานี M.7 อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง 0.21 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยถึงทรงตัว ทางจังหวัดได้มีการดำเนินการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้กับประชาชนในพื้นที่เคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง พร้อมกำหนดพื้นที่อพยพประชาชนแล้วตั้งแต่ก่อนมีการประกาศแจ้งเตือนของ กอนช.ฉบับที่ 18/2566
กอนช.ได้เฝ้าติดตามสภาพอากาศทางภาคอีสาน สถานการณ์น้ำฝนและน้ำท่าในทั้ง 3 ลุ่มน้ำหลักอีสาน คือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูลอย่างใกล้ชิดเพื่อทำการประเมินพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ๆ มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมือง เพื่อบูรณาการข้อมูล วางแผนรับมือสถานการณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากเกิดสภาวะวิกฤติ กอนช.จะได้ออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยก่อนเกิดเหตุล่วงหน้าเป็นเวลา 3 วัน เพื่อการเตรียมความพร้อมอพยพ พร้อมกับศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้าพร้อมออกปฏิบัติการเข้าประจำการพื้นที่เสี่ยงหากเกิดกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนเพื่อให้การช่วยเหลือทันเหตุการณ์ คาดว่าจะช่วยบรรเทาภัยทางน้ำให้กับประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่เสี่ยงได้ล่วงหน้า ซึ่งขณะนี้ยังมีหลายพื้นที่ที่คงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง เช่น ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ภาคตะวันออก และพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เป็นต้น
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 26 กันยายน 2566 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2566 ลงวันที่ 25 กันยายน 2566 เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำชี – มูล ในช่วงวันที่ 26 – 28 กันยายน 2566 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง จะเคลื่อนเข้าสู่แนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ รวมถึงจากการติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบัน (วันที่ 25 กันยายน 2566) ระดับน้ำ +112.21 เมตร ระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สูงกว่าตลิ่ง 0.21 เมตร จากปริมาณฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ระดับน้ำจะอยู่ที่ระดับ +112.84 ม.รทก. (สูงกว่าตลิ่ง 0.84 ม.) ซึ่งปริมาณน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง บริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และ ร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมชลประทาน ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง บริเวณถนนเส้นทางบ้านหมูม่นเลียบอ่างเก็บน้ำหนองสำโรง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าว
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาทำให้เกิดอุทกภัยและทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งท่วมขังในหลายพื้นที่ สทนช. จึงได้เร่งประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไขสถานการณ์ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ สูบระบายน้ำส่วนเกินลงแม่น้ำโขง อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงปรับลดการระบาย พร้อมกับปริมาณฝนตกที่ลดลง ทำให้ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ขณะที่จุดเฝ้าระวังที่สถานี M7 อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยถึงทรงตัว ทางจังหวัดได้มีการดำเนินการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้กับประชาชนในพื้นที่เคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง พร้อมกำหนดพื้นที่อพยพประชาชนแล้วตั้งแต่ก่อนมีการประกาศแจ้งเตือนของ กอนช.ฉบับที่ 18/2566 นอกจากนี้ กอนช. ได้ติดตาม สภาพอากาศทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถานการณ์น้ำฝนและน้ำท่าในพื้นที่อย่างใกล้ชิด วางแผนรับมือสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมทั้งปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพฝนก่อนสิ้นฤดู ทั้งยังเตรียมการวางแผนเก็บกักน้ำเพื่อเป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้งหน้าด้วย