กยศ.เผยเด็กไทยแห่กู้เงินเรียนมากขึ้น
กยศ.ปล่อยกู้เต็มพิกัด ปีการศึกษา2566 ปล่อยกู้ทะลุ 7.6 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.1 แสนคน
กยศ.เล็งของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 10,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในปีการศึกษาหน้า (2567) เพราะเด็กนักเรียนกู้ยืมทุนเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีมากขึ้น ซึ่งถือเป็นปกติ และน่ายินดีที่เด็กๆ หันมาสนใจกู้เงินจาก กยศ.แทนการใช้เงินจากครอบครัวที่มีความยากจนอยู่แล้ว
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. กล่าวว่า ปีการศึกษา2566 คาดการณ์ว่า มีนักเรียนกู้เงินราว 40,790 ล้านบาท แต่ต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 46,168 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับเด็กนักเรียนได้ 760,256 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึง 117,000 ราย จากวงเงินเดิมที่รองรับได้ 643,256 ราย
“น่าจะเป็นเรื่องปกติ ที่มีนักเรียนมากู้เงินจาก กยศ.มากขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยของเราถูกมาก และที่สำคัญเงื่อนไขในการผ่อนชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.บ.ใหม่ ขยายเวลาปลอดชำระหนี้จากเดิม 2 ปี สามารถเพิ่มเป็น 4 ปีได้ หากคณะกรรมการเห็นสมควร ภายหลังจาก สำเร็จการศึกษาแล้ว”
นอกจากนี้ ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ยังแก้ไขให้ กยศ.คิดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระหนี้ ไม่เกิน 0.5% ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี พร้อมกับปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ จากเดิมหักหนี้จากเบี้ยปรับก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นตัดดอกเบี้ยค้างชำระและเงินต้น แต่ พ.ร.บ.ใหม่จะหักเงินต้นก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากหักดอกเบี้ยและค่าเบี้ยปรับ ทำให้การผ่อนชำระหนี้ในแต่ละครั้ง เงินต้นถูกปรับลดลงก่อนจนหมด ถึงจะหักดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ซึ่งวิธีการนี้ จะสามารถล้างหนี้ให้หมดเร็วขึ้นได้
“พ.ร.บ.ใหม่ มีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากๆ โดยผู้กู้สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระหนี้ สามารถผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 6 ครั้ง ตลอดระยะเวลาในการกู้”
ปัจจุบัน กยศ.ปล่อยกู้เด็กนักเรียนมียอดสะสม 6.5 ล้านราย ปล่อยเงินกู้ไปแล้ว 734,127 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ อยู่ระหว่างผ่อนชำระหนี้ 3.5 ล้านราย คิดเป็นเงิน 350,000 ล้านบาท มีหนี้ค้างชำระรวม 90,000 ล้านบาท หรือประมาณ30%
ส่วนการหักเงิน กยศ.จากเงินเดือนต้นสังกัด เช่น ส่วนงานราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ล่าสุดมียอดรวม 1.5 ล้านคน แบ่งเป็นส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่จ่ายเงินเดือนผ่านกรมบัญชีกลาง 200,000 ราย และอีก 1.3 ล้านราย เป็นบริษัทเอกชน ทำให้ กยศ.มียอดชำระหนี้คืนจากรุ่นพี่ ถึงรุ่นน้องปีละ 25,719 ล้านบาท
สำหรับแผนงานปีหน้า จะเริ่มปล่อยกู้วิชาชีพบริบาล (ผู้ดูแลรักษา ดูแลเลี้ยงดู ซึ่งผู้เรียนบริบาลจะต้องดูแลทั้งเด็กเล็ก คนชรา รวมไปถึงผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่อง) โดยปล่อยกู้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 65 ปี ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลน โดยผู้กู้จะได้รับเงินกู้สูงสุดไม่เกินคนละ 50,000 บาท ผ่อนชำระตามเงื่อนไข กยศ.ทุกประการ ภายใต้พ.ร.บ.ไฟเขียวเรื่อง Reskill-Upskill ซึ่งคาดว่า จะมีประชาชนเข้ามาเรียนวิชาชีพบริบาล ประมาณ 2,000 คน หลังจากนั้น จะขยายไปยังวิชาชีพอื่นๆ เช่น ช่างเชื่อมโลหะ ช่างตัดผมและเสื้อผ้า เป็นต้น