ไทยพาณิชยหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 3.1% ปีหน้าโต 3.5%
SCB EIC หั่น GDP ไทยปี 66 เหลือ 3.1% ข้างหน้ายังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จับตา กนง.รอบนี้ขึ้นดอกเบี้ยสูงสุด
SCB EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 66 เหลือ 3.1% จากเดิมที่คาดว่าเติบโต 3.9% หลังจากตัวเลขจริงในไตรมาส 2/66 เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าคาดมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าหดตัวแรงต่อเนื่อง แต่ยังมีแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยฟื้นตัวดีตามประมาณการ 30 ล้านคน โดยเฉพาะชาวตะวันออกกลางเร่งตัวและเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายใหม่ ส่งผลให้ภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องช่วยลดความเปราะบางในตลาดแรงงาน
สำหรับมุมมองปี 67 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเร่งตัวขึ้นมาที่ 3.5% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน และการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมถึงคาดว่าการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/66 แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1.7% และ 2% ในปี 66 และปี 67 ตามลำดับ เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวที่ 1.4% และ 1.5% ในปีนี้และปีหน้า ตามลำดับ
SCB EIC ยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นอีก 1 ครั้งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ สู่จุดสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ย (Terminal rate) รอบนี้ที่ 2.5% ตามเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ และเงินเฟ้อยังมีแรงกดดันจากราคาพลังงานและอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงจะกลับเป็นบวกได้ ช่วยสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวจากการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมานาน
ด้านมุมมองต่อเศรษฐกิจโลก ประเทศต่าง ๆ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่พร้อมกัน (Unsynchronized) โดยในปี 66 SCB EIC คาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้นเป็น 2.4% และจะทรงตัวใกล้เคียงเดิมในปีหน้า ซึ่งที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีกว่าคาด แต่จะมีแนวโน้มเปราะบางต่อเนื่องถึงปีหน้าจากผลของเงินเฟ้อสูง และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงเงินออมส่วนเกินที่เริ่มหมดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดันการฟื้นตัว
ขณะที่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักใกล้สิ้นสุดลงในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของโลกอาจมีความเสี่ยงที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักยังอยูในระดับสูงตามตลาดแรงงานที่ตึงตัวส่งแรงกดดันต่อค่าจ้าง ส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันที่ 5.25-5.5% ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 2/67 ส่วนธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกไม่มากในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะคงดอกเบี้ยสูงไว้อีกระยะก่อนจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี 67 จากเงินเฟ้อพื้นฐานที่เริ่มปรับลดลง สำหรับธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดการผ่อนคลายลงจากมุมมองเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า หากมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูง (Uncertain) จากแรงกดดันสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลง กระทบการส่งออกไทยบางกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน รวมถึงผลกระทบต่อเงินลงทุนโดยตรง FDI จากจีนอาจชะลอลงบ้าง และอาจกระทบกำลังซื้อจากจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยบาง Segments
รวมถึงวิกฤติภัยแล้ง ในกรณีฐานภัยแล้งจะเกิดรุนแรงที่สุดในรอบ 41 ปีในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรังและอ้อยมีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรในปี 67 มีแนวโน้มทรงตัวจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากผลผลิตลดลงได้ส่วนหนึ่ง โดยประเมินว่าภัยแล้งในกรณีฐานจะทำให้ตัวเลข GDP ไทยลดลง -0.14 pp ในปี 66 และ -0.36 pp ในปี 67 และเงินเฟ้อสูงขึ้น +0.18 pp ในปี 66 และ +0.45 pp ในปี 67
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาล หากออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายครั้งใหญ่ เช่น Digital wallet เศรษฐกิจไทยปีหน้าอาจขยายตัวได้เกิน 5% ชั่วคราว แต่ต้องแลกด้วยต้นทุนการคลังในระยะยาว เพราะเม็ดเงินกระตุ้นการใช้จ่ายครั้งใหญ่หลายแสนล้านบาทนั้น สามารถนำมาใช้ยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทย เพื่อหาเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากแผลเป็นหลังวิกฤตโควิด รวมถึงการปรับห่วงโซ่อุปทานโลกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ การใช้เม็ดเงินภาครัฐจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจะบั่นทอนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว ส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงเกินเพดานหนี้ที่ 70% ของ GDP เร็วขึ้นราว 2 ปี ซึ่งอาจจะกระทบพื้นที่การคลังเพื่อรองรับความไม่แน่นอนข้างหน้าและเสถียรภาพการคลังของประเทศได้
SCB EIC มองว่านโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมการแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิผลจริงของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ และผลักดันให้ไทยเข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยได้รับผลประโยชน์จากการส่งออกสินค้าและบริการมากขึ้นและเพิ่มความสำคัญบนห่วงโซ่อุปทานโลก และการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน ผ่านการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของระบบภาษีที่บิดเบือนแรงจูงใจของภาคธุรกิจและครัวเรือน