สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 ก.ย. 66
ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.พิษณุโลก (125) จ.ตราด (89) จ.มุกดาหาร (72) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (48) จ.สงขลา (47) จ.ลพบุรี (46)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 44,919 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 45,212 ล้าน ลบ.ม. (56%)
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 17/2566 ในช่วงวันที่ 5-10 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ มุกดาหาร นครพนม และนครราชสีมา ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ภาคกลาง จ.อุทัยธานี และกาญจนบุรี ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ระนอง และภูเก็ต และเฝ้าพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จ.น่าน
หน่วยบัญชาการทหาพัฒนา นำกำลังพลพร้อมยานพาหนะเครื่องจักรกล รยบ.เทท้าย จำนวน 2 คัน และรถขุดตัก จำนวน 1 คัน ร่วมกับ อบต.หนองสูงใต้ หน่วยงานราชการ ประชาชนในพื้นที่ ดำเนินการขุดลอกวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง บริเวณ
ห้วยลำแสด บ้านดอนกลาง ม.2 ต.หนองสูงใต้ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร
กอนช. เร่งกักเก็บน้ำไหลเข้าเขื่อนจากฝนตกเพิ่มในช่วงนี้พร้อมส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรทดแทนการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กอนช. ในช่วงนี้มีปริมาณฝนตกที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ส่งผลดีในเรื่องของการเติมน้ำต้นทุนให้แก่แหล่งน้ำต่าง ๆ เนื่องจากปัจจุบันภาพรวมฝนของประเทศยังคงต่ำกว่าค่าปกติอยู่ 18% ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศลดลงจากต้นฤดูฝนจากผลกระทบของสภาวะเอลนีโญ ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำในการช่วยเหลือการเพาะปลูกของเกษตรกรจนกว่าจะถึงช่วงเก็บเกี่ยว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ใหญ่ทั้งประเทศ สะสม 1,201 ล้าน ลบ.ม. และเนื่องจากปัจจุบันยังคงมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น จึงคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือบริเวณชายขอบและตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมถึงภาคกลางที่ปัจจุบันยังคงมีฝนน้อยมากด้วย และคาดว่าจะมีน้ำไหลเข้า
อ่างฯ ใหญ่ ในสัปดาห์หน้าเพิ่มอีก 3,205 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะต้องกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการส่งเสริมอาชีพทดแทนในพื้นที่ควบคุมไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยจะมีการจัดทำเมนูอาชีพทางเลือกต่าง ๆ รวมทั้งแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการเพาะปลูกเพื่อสงวนปริมาณน้ำไว้ให้เพียงพอสำหรับฤดูแล้งที่จะมาถึง ซึ่งจะยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญอย่างต่อเนื่อง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 8 กันยายน 2566 ดังนี้
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2566 ลงวันที่ 3 กันยายน 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ด้วย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 5 – 10 กันยายน 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน)จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง อุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ) จังหวัดแพร่ (อำเภอร้องกวาง) จังหวัดน่าน(อำเภอปัว บ่อเกลือ เชียงกลาง ทุ่งช้าง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทยและเนินมะปราง) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเขาค้อ และเมืองเพชรบูรณ์) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอน้ำปาด)จังหวัดกำแพงเพชร (อำเภอคลองลาน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอภูเรือ) จังหวัดชัยภูมิ(อำเภอหนองบัวแดง) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอเมืองมุกดาหาร) จังหวัดนครพนม (อำเภอธาตุพนม) จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอปากช่อง) ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บ้านโพธิ์ บางน้ำเปรี้ยว และบางปะกง) จังหวัดนครนายก (อำเภอปากพลี และองครักษ์) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอประจันตคาม และบ้านสร้าง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง และแหลมสิงห์) จังหวัดตราด (อำเภอคลองใหญ่ เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง แหลมงอบ และบ่อไร่) ภาคกลาง จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่) จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ) ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช(อำเภอฉวาง และพิปูน) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต และถลาง)
ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมเจ้าท่า ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ในแม่น้ำสายหลักท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท และท้ายเขื่อนพระราม 6 จังหวัดสระบุรี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วานนี้ (7 ก.ย. 66) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดำเนินการจัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 4 (ปัจฉิมนิเทศ) พื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เวทีที่ 3 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ณ โรงแรมมีพรสวรรค์ แกรนด์ โฮเทล แอนด์ รีสอร์ทจ.พิจิตร เพื่อนำเสนอร่างผลการศึกษาโครงการ และให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ก่อนนำเสนอ กนช. ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบ แล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อทราบโดยทั่วกัน ซึ่งผลการศึกษาผังน้ำ นอกจากแสดงในรูปแผนที่และแผนผังแล้ว ยังจัดทำเป็นเอกสารและคู่มือเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ อาทิเช่น ข้อเสนอแนะการเตรียมความพร้อมในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำของผังน้ำ เพื่อช่วยลดความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินจากภาวะน้ำท่วม ข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน คู่มือการบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดเอกภาพและเป็นระบบ