สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 สค. 66

ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.ยะลา (96) จ.บึงกาฬ (92) จ.เชียงราย (92) จ.สระบุรี (52) จ.ชลบุรี (50) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (48)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 43,829 ล้าน ลบ.ม. (55%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,422 ล้าน ลบ.ม. (55%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคเหนือ จ.น่าน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สกลนคร นครพนม หนองคาย และบึงกาฬ
สทนช. ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง
สทนช. ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ซึ่งพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ ในหมู่ 2 บ้านแจ้คอน หมู่ 3 บ้านหัวฝาย หมู่ 4 บ้านทุ่งผึ้ง และหมู่ 6 บ้านแจ้คอน ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากอ่างเก็บน้ำแม่ตากมีปริมาณน้ำน้อยสภาพแห้งขอด จึงไม่มีน้ำสำหรับช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะยืนต้นตาย ทั้งนี้ พื้นที่การเกษตรดังกล่าวเป็นการทำนาปีรอบแรก (นาดำ) คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงประมาณเดือน ธ.ค. 66 โดยเทศบาลตำบลทุ่งผึ้งได้ประสานสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมความพร้อมและวางแผนให้การช่วยเหลือในระยะแรก เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้เกษตรกรเบื้องต้น ป้องกันไม่ให้นาข้าวยืนต้นตายไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว รวมทั้งเป็นการเพิ่มน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค บริโภค ใน 4 หมู่บ้าน โดยจะใช้เครื่องสูบน้ำระยะไกล สูบน้ำจากแม่น้ำวัง นำมาพักไว้ที่บริเวณสระโป่ง เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ความจุประมาณ 100,000 ลูกบาศก์เมตร จากนั้นจะทำการสูบน้ำต่อไปยังอ่างเก็บน้ำแม่ตากเหนือ อีกประมาณ 2.5 กิโลเมตร เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว มีแผนที่จะขุดลอกอ่างเก็บน้ำแม่ตากเหนือเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน และหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติมต่อไป

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2566 ดังนี้
- ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
1.1 กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ พบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนต้นฤดูแล้งมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ในหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกน้อยลงกว่าปกติ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง หรือข้าวนาปรังได้ โดยปริมาณน้ำใช้การจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และแผนการเพาะปลูกพืชไร่ พืชผัก และไม้ผล ไม้ยืนต้น รวมกว่า 2.28 ล้านไร่ เท่านั้น ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ ตลอดจนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งหน้าที่จะถึงนี้
1.2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการพัฒนาบ่อน้ำบาดาลให้กับราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้กับราษฎร ณ บ้านแพะหนองห้า ตำบลลี้ อำเภอลี้ จังหวัดลพบุรี - สภาพอากาศ
ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล - การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนแผนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค ณ โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า ตามที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันปรับปรุงร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580) ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปนั้น ซึ่งที่ผ่านมา สทนช.ได้มีการติดตามเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายให้มีน้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุลด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน