สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 สค. 66
ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.บึงกาฬ (150) จ.เชียงราย (97) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (79) จ.ลพบุรี (68) จ.ระยอง (66) และ จ.นราธิวาส (49)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 44,028 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,344 ล้าน ลบ.ม. (55%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 15/2566 ในช่วงวันที่ 20-25 ส.ค. 66 ดังนี้ ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล ตรัง และสุราษฎร์ธานี
สทนช. เดินหน้าแผนหลักบูรณาการบริหารจัดการน้ำ จ.บึงกาฬ
สร้างความมั่นคงด้านน้ำตามแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปีนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. ติดตามการบริหารจัดการน้ำ จ.บึงกาฬ พร้อมเร่งออกแบบวางโครงการเบื้องต้นโดยพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่ง สทนช. เริ่มดำเนินการโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.บึงกาฬ โดยดำเนินการศึกษาทั้งด้านการจัดทำแผนบูรณาการตามสภาพปัญหาพื้นที่ในเชิงลึก จัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัด และจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้นที่สำคัญเร่งด่วน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีจากผลการศึกษาได้มีการคัดเลือกแหล่งน้ำที่มีศักยภาพ จำนวน 13 แห่ง ในทุกอำเภอ เพื่อทำโครงการเบื้องต้นเร่งด่วนในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขิน และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แหล่งน้ำได้อย่างเป็นระบบ เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีน้ำอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตรและภาคการผลิตอย่างเพียงพอนอกจากนี้ จ.บึงกาฬ มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง และเขตห้ามล่าสัตว์กุดทิง ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่รับน้ำทิ้งจากในพื้นที่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของวัชพืชน้ำ จึงมีความจำเป็นในการจัดการคุณภาพน้ำอย่างยิ่ง โดยอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติที่มีระบบการจัดการที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำสำหรับแหล่งน้ำใน จ.บึงกาฬ มีทั้งหมด 1,448 แห่ง สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 35 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 50% ซึ่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่า ปี 65 ประมาณ 13 ล้าน ลบ.ม.ทั้งนี้ รองเลขาธิการ สทนช.ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 และมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ 3 มาตรการอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือจากสถานการณ์เอลนีโญ เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ดังนี้
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 15/2566 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ด้วย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ในช่วงวันที่ 20 – 25 สิงหาคม 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย
ขุนตาล และแม่สรวย) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอฝาง และแม่อาย) จังหวัดน่าน (อำเภอนาหมื่น และเวียงสา) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเขาค้อ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย เฝ้าไร่ โพนพิสัย และรัตนวาปี) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอบุ่งคล้า) จังหวัดนครพนม (อำเภอ ท่าอุเทน และศรีสงคราม) จังหวัดสกลนคร (อำเภอพรรณานิคม สว่างแดนดิน และอากาศอำนวย) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอบ้านดุง) จังหวัดอำนาจเจริญ (อำเภอเมืองอำนาจเจริญ และหัวตะพาน) จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์) จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอเมืองศรีสะเกษ) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเขื่องใน) ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี แก่งหางแมว และขลุง) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง บ่อไร่ คลองใหญ่ และเกาะช้าง) ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงาคุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง ทับปุด และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล และละงู) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง ปะเหลียน และวังวิเศษ) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอพนม และบ้านตาขุน)
ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
2.1 กรมทรัพยากร ร่วมลงพื้นที่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของอาคารและสิ่งปลูกสร้างด้านแหล่งน้ำ และเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2526 ลักษณะโครงการเป็นเขื่อนดิน มีความจุเก็บกักน้ำประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรจำนวน 5,600 ไร่ 945 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรที่สำคัญคือ นาข้าวและปศุสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมีการปลูกทุเรียนป่าละอูเป็นพืชเศรษฐกิจ จึงทำให้ประชาชนมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น
2.2 กรมชลประทาน ดำเนินการนำเรือกำจัดวัชพืชขนาดเล็กขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เบนซิน จำนวน 2 ลำบริเวณเขื่อนเจ้าพระยา ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เพื่อกำจัดผักตบชวาและวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ หน้าบานระบายน้ำเขื่อนและในช่องทางประตูเรือสัญจรและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ