สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 ส.ค. 66
ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.น่าน (118) จ.กาญจนบุรี (79) จ.ชัยภูมิ (62) จ.ปัตตานี (45) จ.สระแก้ว (34) และ กรุงเทพมหานคร (20)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,861 ล้าน ลบ.ม. (51%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 37,157 ล้าน ลบ.ม. (52%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) ในลุ่มน้ำยมตอนล่าง 4 แห่ง (ปตร.ท่านางงาม ปตร.ท่าแห ปตร.วังจิก และ ปตร.โพธิ์ประทับช้าง) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ และเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำ พร้อมทั้งช่วยชะลอน้ำในการผันน้ำเข้าแก้มลิง และช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำยมในช่วงน้ำหลาก บรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ทั้งนี้ ปตร.ท่านางงาม ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาได้ประมาณ 11.10 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 51,375 ไร่ ประชาชนได้ประโยชน์ 2,568 ครัวเรือน
สทนช. ขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง
สทนช. ภาค 2 ประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางการแบ่งปันน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 66/67 ครั้งที่ 1/2566 โดยที่ประชุมรับทราบคำสั่งแต่งตั้งและองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางการแบ่งปันน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 66/67 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมร่วมกันพิจารณา วิเคราะห์ แนวทางและหลักเกณฑ์การแบ่งปันน้ำจากแม่น้ำวังโตนด จ.จันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง (โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน) เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 (มาตรการที่ 9) และแผนปฏิบัติการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 66/67 ของลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพในภาพรวมของลุ่มน้ำ โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกำหนดหลักเกณฑ์ในการแบ่งปันน้ำ (สูบน้ำ) จากแม่น้ำวังโตนดจังหวัดจันทบุรี ไปยังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน (หากมีความจำเป็น) เมื่อระดับน้ำ ณ ฝ่ายบ้านวังใหม่ (ปิดบานระบายน้ำ) อยู่ที่ระดับ +16 ม. รทก. และให้มีแนวทางการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ สทนช. ภาค 2 จะเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกพิจารณาให้ความเห็นตามลำดับต่อไป
สทนช. ภาค 3 ประชุมติดตามโครงการภายใต้แผนหลักการพัฒนาหนองหาร จ.สกลนคร โดยที่ประชุมรับทราบผลการประชุมคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู แหล่งน้ำธรรมชาติและแม่น้ำลำคลอง ครั้งที่ 2/2566 และความก้าวหน้าผลการดำเนินการและปัญหาในการดำเนินโครงการภายใต้แผนหลักการพัฒนาหนองหาร รวมถึงให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการขับเคลื่อนให้โครงการดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์และแผนการดำเนินการที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งร่วมลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการภายใต้แผนหลักการพัฒนาหนองหารจำนวน 2 โครงการ ดังนี้ 1) โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมระยะที่ 1 พื้นที่ชุมชนเมืองสกลนคร จ.สกลนคร ของกรมโยธาธิการและผังเมือง และ 2) โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสานโดยจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ลดการชะล้างดินรอบหนองหาร พื้นที่ท้ายประตูระบายน้ำสุรัสวดีร่วมกับการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมต่อการเกษตร ของสถานีพัฒนาที่ดิน จ.สกลนคร
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ดังนี้
- ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
1.1 กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามการกำจัดวัชพืชผักตบชวาด้วยเรือขุดแบ๊คโฮ บริเวณสะพานบางขนาก ตำบลบางแตน อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตร อุปโภค-บริโภค รวมทั้งการดำเนินการกำจัดวัชพืชด้วยเรือนวัตกรรมเก็บวัชพืชขนาดเล็ก บริเวณคลองซอยที่ 14 สายล่าง ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา และ บริเวณคลองลากฆ้อนเก่า ตำบลละหารอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เพื่อกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
1.2 กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการ ตรวจสอบและบำรุงรักษาสถานีเตือนภัยในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา พร้อมติดต่อประสานงานผู้รู้ ในการช่วยเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อให้การรายงานผลเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อไป - สภาพอากาศและการคาดการณ์
ในช่วงวันที่ 4 – 7 ส.ค. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงวันที่ 8 – 9 ส.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนเพิ่มขึ้น - การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้จัดโครงการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ณ โรงแรม โอทู ลพบุรี ตำบลท่าศาลา อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ตามมาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพ
ให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) ใน 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ โดยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องข้อมูลสถานการณ์น้ำ ช่องทางและการเชื่อมโยงการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ และการแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชันติดตามและแจ้งข้อมูลสถานการณ์National ThaiWater (NTW) ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการแล้ว 4 ครั้งในพื้นที่ภาคเหนือที่ จ.เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ภาคตะวันตก จ.เพชรบุรี และภาคใต้ จ.ยะลา และจะดำเนินการต่อเนื่องอีก 1 ครั้ง ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ต่อไป - การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม จำนวน 6 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดเชียงราย (อมก๋อย) จังหวัดตาก (ท่าสองยาง แม่ระมาด และอุ้มผาง) จังหวัดน่าน (เชียงกลาง ทุ่งช้าง และปัว) จังหวัดนครพนม (นาทม และเมืองนครพนม) จังหวัดจันทบุรี (เมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ และมะขาม) จังหวัดตราด (บ่อไร่ และเกาะช้าง)