สทนช.หวั่นภัยแล้งภาคกลางรีบเติมน้ำลงพื้นที่เสี่ยง
เลขาฯ สทนช. ห่วงแล้งภาคกลาง เร่งติดตามพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ
เลขาฯ สทนช. ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี ห่วงฝนตกน้อยในพื้นที่ภาคกลาง เร่งติดตามพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง กำชับกรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค บริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลในทุกภาคส่วน รองรับสภาวะเอลนีโญ ควบคู่การดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ป้องแล้ง-ท่วมอย่างมีประสิทธิภาพ
วันนี้ (31 ก.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จ.ลพบุรี โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน รายงานสรุปสถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืช สรุปมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกระเทียม พร้อมติดตามการบริหารจัดการน้ำระบบส่งน้ำคลองชัยนาท-ป่าสักฯ จากนั้น ติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาลพบุรี โดยเปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ว่า จากการติดตามปริมาณฝนสะสมในภาพรวมของประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ยังคงต่ำกว่าค่าปกติ รวมถึงปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนของปีนี้ก็ยังคงต่ำกว่าค่าปกติเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ที่คาดว่าจะประสบปัญหาฝนตกน้อย โดยมีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 40% ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากสภาวะเอลนีโญที่ยังคงส่งผลกระทบอยู่ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศรวมกันอยู่ที่ 36,330 ล้าน ลบ.ม. (51%) โดยในพื้นที่ภาคกลางมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 189 ล้าน ลบ.ม. (15%) นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ยังมีโอกาสที่จะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยได้ 1-2 ลูก ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยที่จะเร่งกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้กำชับให้กรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค เคร่งครัดการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลในทุกภาคส่วน วิเคราะห์และวางแผนอย่างรัดกุมให้มีความสอดคล้องกับความผันแปรของสภาพภูมิอากาศ เพื่อรองรับผลกระทบของเอลนีโญที่คาดจะลากยาวไปถึงปี 2567 อีกทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนหลักมีไม่มากนัก ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควนน้อยบำรุงแดน และน้ำที่ส่งมาคลองชัยนาท-ป่าสักต้องมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งการบริหารจัดการน้ำจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และน้ำเพื่อการเพาะปลูกสำหรับพืชไม้ผลยืนต้นเป็นหลัก พร้อมวางแผนการจัดสรรน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ เพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นด้วย เนื่องจากภาคกลางน่าเป็นห่วงที่อาจเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพราะมีพื้นที่ทำการเกษตรค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการเพาะปลูกข้าวที่จะต้องใช้น้ำปริมาณมาก ปัจจุบันภาพรวมทั้งประเทศ ทั้งในและนอกเขตชลประทานเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 43.43 ล้านไร่ จากแผน 59.94 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งในและนอกเขตชลประทานเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 11.04 ล้านไร่ จากแผน 13.13 ล้านไร่ จึงขอให้กรมชลประทานประชาสัมพันธ์รณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็ว นอกจากนี้ มอบให้กรมชลประทานวางแผนและควบคุมการใช้น้ำให้เพียงพอถึงฤดูแล้วปี 2567 เพื่อ สทนช. จะได้นำไปประกอบการบูรณาการป้องกันและบริหารจัดการความเสี่ยง รวมทั้งเตรียมใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลากในช่วงฝนตกหนักนี้ และให้การประปาส่วนภูมิภาค พัฒนาและเตรียมแหล่งน้ำสำรองสำหรับการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนด้วย
ด้านการประประส่วนภูมิภาค สาขาลพบุรี มีความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น โดยได้ติดตามสถานการณ์น้ำและเฝ้าระวังระดับน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสักอย่างต่อเนื่อง พร้อมควบคุมสถานีจ่ายน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างรัดกุม เตรียมการติดตั้งเครื่องสูบทอยน้ำ จำนวน 4 เครื่องให้พร้อมใช้งาน เตรียมทำนบกั้นน้ำเพื่อยกระดับน้ำในคลอง รวมถึงการเตรียมขุดลอกร่องน้ำคลองชัยนาท-ป่าสัก
เพื่อชักน้ำเข้ามาที่เครื่องสูบทอยบริเวณประตูน้ำโคกกะเทียม และเตรียมนำน้ำจากแหล่งน้ำสำรองอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ควบคู่กับการลดแรงดันในการจ่ายน้ำบางช่วงเวลา รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นในการเตรียมรถบรรทุกน้ำและภาชนะใส่น้ำเพื่อเตรียมการแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย“นอกจากนี้ ยังกำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ควบคู่ต่อเนื่องไปด้วย ทั้งการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเครื่องมือ เร่งซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำและโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน เร่งกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ รวมถึงการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและซักซ้อมการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ซึ่ง จ.ลพบุรี จะมีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง ในระหว่างวันที่ 3-4 ส.ค.นี้ ณ โรงแรม โอทู ลพบุรี เพื่อเตรียมรับมือทั้งสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว