สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 ก.ค. 66
ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออก เฉียงเหนือด้านตะวันออก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนัก บริเวณ จ.ระนอง (89) จ.นครพนม (47) จ.จันทบุรี (43) จ.กาญจนบุรี (31) จ.ตาก (23) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (16)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,876 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,283 ล้าน ลบ.ม. (51%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 12/2566 ในช่วงวันที่ 28 ก.ค. – 2 ส.ค. 66 ดังนี้ภาคเหนือ จ.ตาก และอุทัยธานีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานีภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราดภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
กอนช. ติดตามหน่วยงานบริหารจัดการน้ำตามข้อสั่งการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศพร้อมวางแผนสำรองน้ำ เพื่อรับมือสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ การเกษตรและอุตสาหกรรม ตามลำดับ จึงทำให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด และไม่มีพื้นที่ในเขตชลประทานประสบภัยแล้ง พร้อมคาดการณ์และวางมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำในอนาคต ตามข้อสั่งการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ด้วยการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปี (ปี2566-2567) เร่งเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนที่เหลือ (ก.ค.- ต.ค.66) ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บของอ่างเก็บน้ำ แก้มลิง คลองส่งน้ำ คลองระบายและบ่อยืม ชะลอ/กักเก็บน้ำในลำน้ำธรรมชาติ อาทิ ต้นน้ำจัดทำฝายชะลอน้ำ กลางน้ำ กักเก็บน้ำโดยเขื่อนทดน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย ปลายน้ำ กักเก็บน้ำโดยอาคารชลประทาน สำหรับทางน้ำที่ยังไม่มีอาคารชลประทานให้พิจารณาสร้างทำนบชั่วคราว เพื่อกักเก็บน้ำไว้ไม่ให้ไหลลงแม่น้ำนานาชาติหรือทะเล ที่สำคัญทำการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรเพาะปลูกพืช ที่ใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งใช้มาตรการ 3R REDUCED ประหยัดน้ำโดยการลดการใช้น้ำ ควบคุมปริมาณการใช้น้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม REUSED นำน้ำมาใช้ซ้ำ RECYCLED นำน้ำมาผ่านกระบวนการบำบัดให้สามารถใช้ได้อีก
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2566 ลงวันที่ 24 ก.ค. 2566 กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคเหนือ จังหวัดตาก (อำเภออุ้มผาง) จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอเกษตรสมบูรณ์) จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกา และบึงโขงหลง) จังหวัดนครพนม (อำเภอท่าอุเทน และศรีสงคราม) จังหวัดสกลนคร (อำเภอโคกศรีสุพรรณ) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ และโพนทอง) จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอนางรอง) จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอชุมพลบุรี) จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอภูสิงห์ ขุขันธ์ ขุนหาญ
และปรางค์กู่) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอบุณฑริก) ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอท่าตะเกียบ) จังหวัดชลบุรี (อำเภอบ่อทอง) จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง มะขาม เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ โป่งน้ำร้อน แก่งหางแมว และนายายอาม) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เกาะช้าง แหลมงอบ และเขาสมิง) ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และกระบุรี) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอบ้านตาขุน และพนม) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอช้างกลาง)
ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรุงเทพมหานคร จัดเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดเก็บขยะและวัชพืช ในคลองมหาศรจากคลองบางไผ่ถึงคลองภาษีเจริญ ความกว้างประมาณ 5-10 เมตร ความยาวประมาณ 6,371 เมตร เพื่อเป็นการช่วยระบายน้ำ จากคลองสายหลักในพื้นที่ เช่น คลองบางไผ่ คลองราษฎร์สามัคคี และรับน้ำจาก คู คลอง ซอย ถนน และชุมชนในพื้นที่เขตหนองเเขม ระบายน้ำออกสู่คลองภาษีเจริญต่อไป
การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กอนช.ซึ่งดำเนินการประชุมในวันพุธทุกสัปดาห์ ว่า อิทธิพลของพายุตาลิม ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 16-22 ก.ค. 66 ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในประเทศไทย 640 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังคงเป็นปริมาณน้ำที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สถานการณ์น้ำน้อยจึงยังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวล ปัจจุบันปริมาณฝนสะสมในภาพรวมตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันยังต่ำกว่าค่าปกติ 19% รวมถึงปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนของปีนี้ก็ยังคงต่ำกว่าค่าปกติเช่นกัน ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. คาดการณ์ว่ายังมีโอกาสที่จะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยได้ 1-2 ลูก ซึ่ง กอนช. ยังคงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 อย่างเคร่งครัด ทั้งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ซักซ้อมการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลศาสตร์ต่าง ๆ เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดผักตบชวา รวมถึงสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศ ฯลฯ ควบคู่ไปกับการเตรียมกักเก็บน้ำในอ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำน้อยให้ได้มากที่สุดและวางแผนการระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการเกษตรในช่วงฤดูฝนให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ เพื่อเตรียมรับมือทั้งสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้งอย่างมีประสิทธิภาพ