สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 ก.ค. 66
ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตราด (159) จ.อำนาจเจริญ (137) จ.ปทุมธานี (84) จ.อุทัยธานี (78) จ.พังงา (69) และ จ.เพชรบุรี (43)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,447 ล้าน ลบ.ม. (49%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,975 ล้าน ลบ.ม. (50%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมชลประทานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วางแผนบริหารจัดการน้ำรับมือปรากฏการณ์เอลนีโญ ตามนโยบายของ กอนช. โดยวางแผนการบริหารจัดการน้ำต่อเนื่อง 2 ปี เริ่มตั้งแต่ฤดูฝนปี 66 นี้ จนถึงฤดูฝนปี 67 ทั้งนี้ การระบายน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่มีเพียงพอสำหรับเพื่อการอุปโภค-บริโภคเท่านั้น ส่วนภาคการเกษตรให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก พร้อมวางมาตรการรับมือด้วยการให้เกษตรกรลดการเพาะปลูก หรือปรับเปลี่ยนเป็นพืชใช้น้ำน้อย
กอนช. คาดการณ์ปริมาณน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่าง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
สถานีเชียงแสน จ.เชียงราย คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุด ในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. 66 ประมาณ 1.20-1.60 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่งสถานีเชียงคาน จ.เลย คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุด ในช่วงวันที่ 25 – 27 ก.ค. 66 ประมาณ 0.80-1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่งสถานีหนองคาย จ.หนองคาย จนถึง สถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 26 – 30 ก.ค. 66 ประมาณ 1.00 -1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง
สทนช. จัดประชุมผังน้ำ โขงเหนือ – ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ ในการจัดทำผังน้ำให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อ (ร่าง) ผังน้ำ ครั้งที่ 1 โดยผลลัพธ์ที่ได้ประกอบด้วย แผนที่ แผนผัง รายการประกอบผังน้ำ ข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ รวมถึงระบบฐานข้อมูล และระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับผังน้ำ ให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ ดังนี้โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ในระหว่างวันที่ 19-21 ก.ค. 66 จำนวน 3 เวที ใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา
โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ในระหว่างวันที่ 22-24 ก.ค. 66 จำนวน 3 เวที ใน จ.ยะลา นราธิวาส และปัตตานีทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จ สทนช. จะเสนอต่อ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศกำหนดผังน้ำในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กองทัพบก ร่วมกับส่วนราชการ ผู้นำชุมชน เยาวชนอาสาพัฒนา และประชาชนในพื้นที่ ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำ (แบบผสมผสาน) จำนวน 10 ฝาย ณ แหล่งน้ำธรรมชาติของหมู่บ้านขาแหย่งพัฒนา ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อชะลอการไหลของน้ำในห้วงฤดูฝน และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค-บริโภคห้วงฤดูแล้ง
2. สภาพอากาศ
ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบน
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สทนช. ได้ดำเนินการจัดประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 1 โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำโขงเหนือ จำนวน 3 เวที ระหว่างวันที่ 19 – 21 กรกฎาคม 2566 ร่วมกับระบบออนไลน์ โดยเวทีที่ 1 จังหวัดเชียงราย เวทีที่ 2 จังหวัดเชียงใหม่ และเวทีที่ 3 จังหวัดพะเยา มีผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ครอบคลุมหน่วยงานราชการจากส่วนกลาง หน่วยงานในระดับจังหวัด/อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ สื่อมวลชน กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ และประชาชนที่สนใจ รวมทั้งสิ้น 468 คน โดยผู้เข้าร่วมประชุม ได้มีข้อเสนอแนะและให้ความคิดเห็นปัญหาในพื้นที่ เช่น เสนอแนะให้มีการจัดทำผังน้ำระดับนานาชาติ/ระดับประเทศ หน่วยงานท้องถิ่นได้ให้ข้อมูลเกี่ยวสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ (สะพาน ฝาย และประตูระบายน้ำ) ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการสะสมของเศษขยะและเป็นอุปสรรคในการไหลของน้ำ เสนอแนวทางการบริหารจัดการน้ำ เสนอให้มีแผนบริหารจัดการน้ำ ให้ข้อมูลจุดที่เกิดปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณที่ลำน้ำหลายสายมาบรรจบกัน อีกทั้งมีสิ่งกีดขวางลำน้ำและขยะอุดตัน ทำให้น้ำท่วมบริเวณดังกล่าว และหน่วยงานภาคการศึกษาให้ความสนใจนำข้อมูลจากโครงการฯไปใช้ในการศึกษาวิจัย เป็นต้น ทั้งนี้ สทนช. จะนำข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมประชุมไปปรับปรุงร่างผังน้ำให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นต่อไป