สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 ก.ค. 66 เวลา 7.00 น.
ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พังงา (149) จ.ตราด (140) จ.ชัยภูมิ (98) กรุงเทพมหานคร (73) จ.สุโขทัย (68) และ จ.กาญจนบุรี (42)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,421 ล้าน ลบ.ม. (49%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,961 ล้าน ลบ.ม. (50%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. คาดการณ์ปริมาณน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่าง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
• สถานีเชียงแสน จ.เชียงราย คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุด ในช่วงวันที่ 23-25 ก.ค. 66 ประมาณ 1.20-1.60 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง
• สถานีเชียงคาน จ.เลย คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุด ในช่วงวันที่ 25 – 27 ก.ค. 66 ประมาณ 0.80-1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง
• สถานีหนองคาย จ.หนองคาย จนถึง สถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 26 – 30 ก.ค. 66 ประมาณ 1.00 -1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง
สทนช. เร่งดำเนินการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง จ.บุรีรัมย์-สุรินทร์
เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 66 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้โครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่เฉพาะ (Area Based) ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง บุรีรัมย์-สุรินทร์ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ และในวันที่ 21 ก.ค. 66 ได้ติดตามโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ขาดแดลนน้ำ ณ ต.โนนสุวรรณ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยโครงการฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 65 เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชน ด้วยการเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงและสร้างระบบกระจายน้ำ ส่งน้ำไปยังพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาการขาดแลนน้ำ และส่งน้ำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง สามารถเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ 1.06 ล้าน ลบ.ม./ปี ประชาชนได้รับประโยชน์ 400 ครัวเรือน และในอนาคตสามารถขยายพื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,000 ครัวเรือน
ทั้งนี้ รองเลขาธิการ สทนช. ได้กำชับให้หน่วยงานเร่งวางแผนดำเนินการเตรียมรับมือสถานการณ์เอลนิโญ พร้อมติดตาม เฝ้าระวัง สถานการณ์ และควบคุมการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดให้เพียงพอถึงฤดูแล้งปี 67/68
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมโยธาธิการและผังเมือง เตรียมพร้อมและเฝ้าระวังในการรับมือฤดูฝน เร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมเครื่องมือ เครื่องจักร และเรือเข้าดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชทั่วประเทศเพื่อไม่ให้กีดขวางทางระบายน้ำ ป้องกันการเกิดอุทกภัย และน้ำท่วมขัง พร้อมสนับสนุนเรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืชเข้าช่วยเหลือทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาผักตบชวาและวัชพืชสะสมหนาแน่น ปัจจุบันกรมฯมีเครื่องจักรในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ทั้งหมดจำนวน 49 ลำ แบ่งเป็น เรือกำจัดผักตบชวาแบบสายพานลำเลียงจำนวน 34 ลำเรือกำจัดผักตบชวาแบบตักหน้า จำนวน 10 ลำ และเรือพอนทูนบรรทุกรถขุด จำนวน 5 ลำ ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน รวมทั้งให้การสนับสนุนเครื่องจักรในแหล่งน้ำสาธารณะกว่า 64 แห่งทั่วประเทศหากพี่น้องประชาชนประสบปัญหาเกี่ยวกับผักตบชวาและวัชพืช สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่กองบูรณะและบำรุงรักษา กรมโยธาธิการและผังเมือง (ส่วนกลาง)
2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 สทนช. จัดโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณน้ำ ณ เขื่อนบางลาง ตำบลเขื่อนบางลาง อำเภอบันนังสตาจังหวัดยะลา ตามมาตรการที่ 10 ใน 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครีอข่ายภาคประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้โดยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องข้อมูลสถานการณ์น้ำ ช่องทางและการเชื่อมโยงการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ และการแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชันติดตามและแจ้งข้อมูลสกานการณ์น้ำ National ThaiWater (NTW) ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการแล้ว 3 ครั้งในพื้นที่ภาคเหนือที่ จ.เชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.ขอนแก่น และภาคตะวันตกที่ จ.เพชรบุรี และจะดำเนินการต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง จ.ลพบูรี และ จ.ปราจีนบุรี ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมนี้