อีอีซี ออกกฎหมายลูก 44 ฉบับดูดนักลงทุนต่างชาติ
อีอีซี ดันกฎหมายลูก 44 ฉบับ ผุด one stop service หนุนทุนต่างชาติลงทุน 5 ปีต่อเนื่องทะลุ 2.2 ล้านล้าน ตามงานแผนระยะที่ 2 เริ่มปี2566-2567
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี กล่าวว่า แผนงานระยะที่ 1 ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว และนับจากนี้ไป แผนงานระยะที่ 2 ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2566-2570 ต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 2.2 ล้านล้านบาท จึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจลงทุนทีอีอีซี ได้อย่างรวดเร็วและง่ายมากขึ้น
“แผนงาน ระยะที่ 1 ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนที่ได้อนุมัติไปแล้วสูงถึง 2 ล้านล้านบาท จากที่วางเป้าหมายไว้ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน (PPP) 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักมูลค่าลงทุน 661,012 ล้านบาท ประกอบด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาท่าเรือแหลมและมาบตาพุดระยะ 3”
ส่วนที่เหลือ มีการลงทุนผ่าน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อีก 1,250,305 ล้านบาท และงบบูรณาการอีอีซี มูลค่า 70,271 ล้านบาท
“วันนี้ เรากำลังวางแผนเพื่อให้เกิดการลงทุนจริงๆ หลังจากโครงสร้างพื้นฐานได้ดำเนินการมาถึงระดับหนึ่งแล้วเช่นการสร้างถนนและการวางระบบเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมด้านพื้นที่และแรงงาน” นายจุฬา กล่าวและกล่าวว่า
“แผนงานที่ 2 มีระยะเวลา 5 ปี เช่นเดียวกับแผนที่ 1 แต่จะเพิ่มการลงทุนให้ได้แตะระดับ 2.2 ล้านล้านบาทซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแผนดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมกับการผลักดัน 5 คัสเตอร์อุตสาหกรรม การแพทย์ขั้นสูง ดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) BCG และบริการ”
ดังนั้นอีอีซีจึงจำเป็นต้องเพิ่มแรงดึงดูดให้ต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนให้ได้ ขณะที่ทุกๆ ประเทศ เช่นไทย ก็มีแผนงานที่ไม่แตกต่างไปจากไทย แต่การออกกฎหมายลูก 44 ฉบับ จะเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน ที่มาพร้อมกับความชัดเจนทุกๆ เรื่อง จะทำให้นักลงทุนสบายใจ และมองเห็นความโปร่งใสในการทำงานของไทย
ขณะนี้ สกพอ.กำลังอยู่ระหว่างการจัดเตรียมออกกฎหมายลูก 44 ฉบับ ตามพ.ร.บ.อีอีซี และจะค่อยๆ ทยอยออก จนกว่าออกครบทั้งหมด 44 ฉบับภายในปีนี้
สำหรับกฎหมายลูก 44 ฉบับ เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบการ โดยจะอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนที่มาขอบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ one stop service เป็นช่องทางด่วนให้กับนักลงทุนในการขอใบอนุญาตประกอบการ อาทิ ใบอนุญาตควบคุมอาคารและสิ่งปลูกสร้าง การตั้งโรงงาน การขออนุญาตนำเครื่องมือเครื่องจักรอุตสาหกรรม ธุรกิจกิจด้านพลังงาน รวมถึงการอนุมัติวีซ่าในการทำงานให้แก่นักธุรกิจที่ทำงานในพื้นที่อีอีซี เป็นระยะเวลา 5 ปี
“อีอีซี จะเป็นตัวกลางในการขอใบอนุญาตแทนทุกหน่วยงานที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของอีอีซี เพื่อเป็นประหยัดเวลา และลดขั้นตอนในการทำงาน รวมทั้งยังป้องกันความสับสนในการกระบวนการยื่นเอกสารและสอบถามเรื่องราวต่างๆ โดยไม่บวกค่าธรรมเนียมใดๆ”
นายจุฬา กล่าวว่า เราจะเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ แทนหน่วยงานเจ้าของเรื่อง แต่จะไม่มีการบวกเพิ่ม ส่วนเงินที่ได้มา สกพอ.จะคืนให้ทุกบากทุกสตางค์ ซึ่งวิธีการนี้ นักลงทุนต่างชาติอยากเห็นมากที่สุด และมั่นใจว่า วิธีการดังกล่าว เหนือกว่าคู่แข่งอย่างแน่อน
สำหรับแผนงานระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี2566-2570 ประกอบด้วย
- ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี
- เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
- ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ
- เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน
โดยแผนงานดังกล่าว จะนำเสนอบอร์ด กพอ.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และครม.ต่อไป