ออมสินยันไม่มีหนี้เรื้อรัง

วิทัย มั่นใจ ธนาคารออมสินปรับปรุงโครบสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เรื้อรัง หรือหนี้ที่จ่ายแต่ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว มีน้อยมาก

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารมีนโยบายในการแก้ไขหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด 19 นั้น จากปี 2562 ที่ลูกหนี้ที่ต้องเข้าข่ายปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านราย ขณะนี้ เหลืออยู่ประมาณ 350,000 ราย และในปีหน้าตั้งเป้าให้ลดลงเหลือประมาณ 200,000 ราย สำหรับลูกหนี้กลุ่มเรื้อรังนั้น ก็ยอมรับว่า มีอยู่จำนวนหนึ่งแต่ไม่มากนัก และไม่ได้เป็นหนี้ที่รุนแรง ธนาคารสามารถดูแลได้
“ต้องหารือกับ ธปท.เรื่องการแก้ไขหนี้ก่อน แต่หนี้เรื้อรังของออมสินนั้น มีไม่มากโดยหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว โดยที่เงินลดลงน้อยมากๆ หรือไม่ลดลงเลย คือหนี้ที่ ธปท.เป็นห่วง”
ส่วนมาตรการที่กระทรวงการคลังสั่งให้ธนาคารออมสิน ดำเนินการนั้น ขณะนี้ ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เรียบร้อยแล้ว โดยมาตรการดังกล่าวจะรวมถึงมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนและการลดปัญหาหนี้นอกระบบที่จะเข้าไปช่วยเหลือทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย
ทั้งนี้ ในปลายปีนี้ ธนาคารจะเปิดตัวธุรกิจนอนแบงก์ เพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่รายย่อยที่ไม่มีหลักประกัน วงเงินตั้งแต่ 8,000 บาทถึงหลักแสนบาท ผ่านสินเชื่อประเภทนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่าตลาดราว 3-5% โดยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะอยู่ที่ประมาณ 33% ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลจะอยู่ที่ประมาณ 25%
นอกจากนี้ ยังมีแผนจะปล่อยสินเชื่อผ่าน Digital Lending ในช่วงต้นปีหน้า ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อราว 100,000 รายในปีแรก ขณะนี้ อยู่ระหว่างการขออนุมัติใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับทุนจดทะเบียนบริษัทดังกล่าวอยู่ที่ 500 ล้านบาท

“เราต้องการที่จะเข้าไปแข่งขันลดดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ที่จะสามารถให้บริการสินเชื่อรายย่อยได้ครอบคลุมความเสี่ยงที่สูงขึ้น เป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนถูกลงและเป็นธรรม โดยใช้ Alternative Data อนุมัติสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่จะทำให้กระบวนการปล่อยสินเชื่อทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้อีกทางหนึ่งด้วย โดยลูกหนี้สามารถใช้ช่องทางสินเชื่อนี้ในการรีไฟแนนซ์เงินกู้ได้”
การปล่อยสินเชื่อนอนแบงก์ดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ธนาคารดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น โดยเข้าไปช่วยลดต้นทุนการเงินให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ผ่านการนำผลกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์มาช่วยเหลือธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารได้ดำเนินการในหลายโครงการ และรวมถึง การออกโปรดักส์การเงินในรูปแบบต่างๆ อาทิ การทำธุรกิจจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ ที่อนุมัติสินเชื่อแก่รายย่อยไปกว่า 1 ล้านราย ช่วยลดดอกเบี้ยในระบบให้เหลือ 16-18% จากเดิมอยู่ที่ 24-28%