พายุ “ตาลิม” เล็งกระหน่ำไทย ภาคเหนือ-อีสาน ระวังน้ำท่วม
กอนช. เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักจากพายุโซนร้อน “ตาลิม” และร่องมรสุมกำลังแรง คาดช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนทั่วประเทศกว่า 1,400 ล้าน ลบ.ม.
กอนช. ติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน “ตาลิม” และร่องมรสุมกำลังแรง จากประกาศกรมอุตุฯ คาดส่งผลให้มีฝนเพิ่มขึ้น ระยะนี้ ช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสาน ช่วยเหลือสถานการณ์พื้นที่ตอนกลางของประเทศ ที่เสี่ยงแล้ง พร้อมเฝ้าระวังและเตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในบางพื้นที่ วันนี้ (16 ก.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รองผู้อำนวยการ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กอนช. ได้มีการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์พายุจากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ตามข้อสั่งการของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. โดยขณะนี้ พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “ตาลิม” (TALIM) แล้ว และกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้า ๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. 66 และในช่วงวันที่ 16-20 ก.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรง ส่งผลให้ในระยะนี้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า พายุโซนร้อน “ตาลิม”และร่องมรสุมกำลังแรง คาดการณ์จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศได้กว่า 1,426 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในช่วงระหว่างวันที่ 16-22 ก.ค. 66 โดยอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าสูงสุด ได้แก่ เขื่อนสิรินธร259 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ 217 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 195 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว 125 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนภูมิพล 117 ล้าน ลบ.ม.
“จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนและร่องมรสุมกำลังแรงดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ในช่วงนี้มีฝนเพิ่มมากขึ้นหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในทุกภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างฯ ขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อย เช่น เขื่อนหลักใน
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมไปถึงเขื่อนวชิราลงกรณในภาคตะวันตก ที่สามารถใช้สนับสนุนน้ำต้นทุนให้แก่พื้นภาคกลางเพื่อใช้สำหรับผลักดันน้ำเค็มและผลิตน้ำประปาได้ ซึ่งถือเป็นผลดีในการช่วยเหลือพื้นที่ตอนกลางของประเทศที่คาดว่าจะมีฝนตกน้อยจากสภาวะเอลนีโญในปีนี้และเสี่ยงเกิดภัยแล้งมากที่สุด อย่างไรก็ตาม กอนช. ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นจากฝนตกหนักในบางแห่ง โดยวานนี้ (15 ก.ค. 66) ได้ออกประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 18-21 ก.ค. 66 เพิ่มเติมจากประกาศฉบับก่อนหน้านี้ และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก ไปจนถึงเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่
ได้อย่างทันท่วงที” ดร.สุรสีห์ กล่าว