กรมศุลฯ จับเนื้อควายเถื่อน6 พันกิโลกรัมมูลค่า 1.2 ล้านบาท

กรมศุลกากรจับกุมเนื้อกระบือแช่แข็ง 6,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท
กรมศุลกากรจับกุมเนื้อกระบือแช่แข็ง ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักร น้ำหนัก 6,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1,200,000 บาท ณ ด่านตรวจศูนย์ป้องกันและปราบปรามของศุลกากรปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการป้องกันการลักลอบนำเนื้อสัตว์แช่แข็งเข้ามาภายในราชอาณาจักรไทยในทุกช่องทาง เพื่อปกป้องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค และอาจทำให้กลไกทางการตลาดเกิดความเสียหาย จึงให้กำชับทุกหน่วยงานในสังกัดกรมศุลกากร เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันการลักลอบดังกล่าวฯ และเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 กรมศุลกากรได้รับแจ้งว่าจะมีการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์แช่แข็งจากต่างประเทศเข้ามายังภาคกลางของประเทศไทย โดยจะผ่านด่านตรวจศูนย์ป้องกันและปราบปรามของศุลกากรปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายพงศ์เทพ บัวทรัพย์รองอธิบดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร มอบหมายให้
นายถวัลย์ รอดจิตต์ ผู้อำนวยการกองสืบสวนและปราบปราม ร่วมกับนายศศิน ปงรังษี ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรของศูนย์ป้องกันและปราบปรามของศุลกากรปราณบุรี กองสืบสวนและปราบปราม และเจ้าหน้าที่จากด่านศุลกากรประจวบคีรีขันธ์ เฝ้าระวังรถบรรทุกที่ขับผ่านบริเวณดังกล่าว ต่อมาพบรถบรรทุก 12 ล้อ ที่มีความน่าสงสัย จึงขอให้เข้าด่านตรวจฯ และขอทำการ ตรวจค้น พบสินค้าประเภทเนื้อกระบือแช่แข็ง มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ เมื่อขอเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร ปรากฏว่า พนักงานขับรถบรรทุกไม่สามารถนำมาแสดงได้ ทั้งนี้ เนื้อกระบือแช่แข็งดังกล่าว มีน้ำหนัก 6,000 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1,200,000 บาท จึงนำผู้ต้องหาพร้อมของกลางดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดฐานนำเข้ามา
ในราชอาณาจักร ซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 242 และ 247 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง