คลังเตรียมเงินล้นหน้าตักอุดรูรั่วการเมืองไทย
ปลัดคลังไม่หวั่นปัญหาการเมืองการเมืองยืดเยื้อ ชี้งบประมาณปี67 ใช้ไม่ทันเลื่อนไป 6 เดือนกระทบจีดีพี 0.05% ขนเงินอัดฉีดเข้าสู่เศรษฐกิจเกินแสนล้านบาท
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแผนรับรองปัญหาการเมือง กรณีงบประมาณรายจ่ายปี2567 เกิดความล่าช้า ไม่ใช่สามารถใช้ได้ในวันที่ 1 ต.ค.2565 ซึ่งประเด็นนี้ อาจจะทำให้งบประมาณปี2567 เริ่มมีผลบังคับใช้จริงๆ ในเดือนมี.ค.-เม.ย.2567
“กระทรวงการคลังมีแผนรองรับไว้พร้อมแล้ว เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดความต่อเนื่อง โดยเราคาดว่า ปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.6% เป็นเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ โดยในวันพุธที่ 26 ก.ค.นี้ สศค.จะแถลงข่าวเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจปีนี้ใหม่”
ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีมากขึ้น และน่าจะได้ตามเป้าหมาย 28-30 ล้านคน อัตราเงินเฟ้อลดลง การบริโภคดีขึ้น และล่าสุด ธนาคารโลกประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ โต 3.9%
สำหรับเม็ดเงินที่จะอัดฉีดเข้าสู้ระบบเศรษฐกิจได้เตรียมสำรองไว้ กรณีงบประมาณปี2567 ประกาศใช้ไม่ทันที่กำหนด ประกอบด้วย 1.พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณกำหนดให้สามารถงบประมาณปีเก่าไปพลางก่อน โดยเฉพาะงบลงทุนที่ผูกพันไว้แล้ว และงบฝึกอบรม-สัมมนา
2.งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 500,000 ล้านบาท 3.สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) ยังมีวงเงินอยู่อีก 70,000 ล้านบาท
“เชื่อว่างบจากทั้ง 3 ส่วนนี้ จะสามารถเพียงพอรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงรอยต่อระหว่างที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ไปพลางก่อนได้ เรามีมาตรการ front load เตรียมพร้อมแล้ว ส่วนที่จะเข้ามาช่วยทดแทน เป็นงบลงทุนรัฐวิสาหกิจของหลายหน่วยงานทั้งหมด 500,000 ล้านบาท ก็น่าจะเอามา front load ได้ก่อน 50,000-60,000 ล้านบาท และอีกส่วนเป็นโครงการของ SFI รีบดำเนินการได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบ 67 ซึ่ง สศค.เตรียมเรื่องนี้ไว้แล้ว เชื่อว่าเพียงพอที่จะมาทดแทน (ช่วงงบปี 67 ล่าช้า)” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า การที่งบประมาณปี 67 ล่าช้าออกไปราว 6 เดือน หรืออาจจะเร็วกว่า หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วนั้น จะมีผลต่อ GDP ปี2566 เพียง 0.05% เท่านั้น ซึ่งถือว่า ไม่เล็กน้อย และเมื่อนำสิ่งที่เราเตรียมไว้มาหักออกไปแล้ว ก็แทบไม่มีผลกระทบเลย
“เราไม่มีเกียร์ว่างแน่นอน 100% มาตรการทั้งหมดที่เตรียมไว้ในส่วนของการเงิน การคลัง มาตรการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายอย่างไร มาตรการประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลตัวจริง หน่วยงานราชการทุกกระทรวง สามารถเดินได้ภายใต้ระบบราชการ”
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.6% ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยมีการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ราว 29 ล้านคน ในขณะที่คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัด จะกลับมาเกินดุลที่ 4.2 พันล้านดอลลาร์ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.6% กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ กระทรวงการคลัง จะมีการทบทวนตัวเลขจีดีพีสำหรับปี 66 ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากมีปัจจัยที่เปลี่ยนไปจากสมมติฐานเดิมที่วางไว้ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่ามากขึ้น ซึ่งส่งผลทั้งแง่บวก และผลข้างเคียง รวมทั้งกรณีของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน สำหรับแผนการคลังระยะปานกลางปี 66-70 นั้น จะยังเป็นการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
โดยตั้งแต่ปีงบ 67 มีความพยายามที่จะควบคุมสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อจีดีพีไม่ให้เกิน 3% และจะปรับลดขนาดการขาดดุลลงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง เพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายปี 67 ตั้งเป้ารายได้ที่ 2.75 ล้านล้านบาท และรายจ่ายที่ 3.35 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 3% ต่อจีดีพี