สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 14 ก.ค. 66 เวลา 7.00 น.
ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งเกิดขึ้นได้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักมากบริเวณ จ.นครสวรรค์ (92) จ.ศรีสะเกษ (70) จ.จันทบุรี (66) จ.นราธิวาส (62) จ.ลพบุรี (57)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,590 ล้าน ลบ.ม. (49%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,076 ล้าน ลบ.ม. (50%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี ยกเว้นสถานีบางปะกง
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร (12 ก.ค. 66) มีการปฏิบัติการฝนหลวง จนเกิดฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ในพื้นที่ จ.แพร่ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี นครสวรรค์ นครราชสีมา กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี สระแก้ว ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำแม่สาย อ่างเก็บน้ำแม่ถาง อ่างเก็บน้ำแม่คำปอง อ่างเก็บน้ำน้ำแหง อ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว อ่างเก็บน้ำคลองโพธิ์ เขื่อนศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง เขื่อนแก่งกระจาน อ่างเก็บน้ำห้วยเกษม อ่างเก็บน้ำบ้านกระหร่างสาม อ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ อ่างเก็บน้ำห้วยพุน้อย และอ่างเก็บน้ำห้วยวังเต็น
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
กอนช.ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 15 – 20 ก.ค. 66 ดังนี้ ภาคเหนือ บริเวณ จ.เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ บริเวณ จ.ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล พัทลุง และนราธิวาส
กอนช. ติดตามการดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566
เมื่อวันที่ 12 – 13 ก.ค. 66 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้จัดโครงการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตามมาตรการที่ 8 และ 10 ในมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 โดย นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการ สทนช. ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ ณ โรงแรม อีโค่ โคซี่ บีชฟรอนต์ รีสอร์ต อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยทหาร เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรผู้ใช้น้ำ เข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ โดยรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัยเป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX) และจำลองสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.เพชรบุรี โดยมีขั้นตอนการฝึก ประกอบด้วยการจำลองการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และใช้กลไกการปฏิบัติตาม โครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า รวมทั้งการเตรียมความพร้อม ทั้งเครื่องจักรเครื่องมือแผนเผชิญเหตุการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องข้อมูลสถานการณ์น้ำ ช่องทางและการเชื่อมโยงการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ รวมถึงการแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชันติดตามและแจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำ ผ่าน National ThaiWater (NTW) และช่องทางการติดต่ออื่นๆ เพื่อบูรณาการร่วมกันในการเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2566
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2566 ลงวันที่ 12 ก.ค. 2566 กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 15 – 20 ก.ค. 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคเหนือ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย (อำเภอแม่สาย และแม่จัน) จังหวัดน่าน (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ปัว และเชียงกลาง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แม่ลาน้อย แม่สะเรียง ขุนยวม ปางมะผ้า ปาย และสบเมย) จังหวัดตาก (อำเภอแม่ระมาด แม่สอด พบพระ ท่าสองยาง และอุ้มผาง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกา และบึงโขงหลง) จังหวัดสกลนคร (อำเภอโคกศรีสุพรรณ) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ และโพนทอง) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอบุณฑริก) ภาคตะวันออก จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา และแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เกาะช้าง และเกาะกูด) และภาคใต้ จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง สุขสำราญ และกะเปอร์) จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เกาะลันตา คลองท่อม เหนือคลอง และอ่าวลึก) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง ห้วยยอด และปะเหลียน) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ท่าแพ และควนกาหลง) จังหวัดพัทลุง (อำเภอเมืองพัทลุง ป่าบอน และควนขนุน) จังหวัดนราธิวาส (อำเภอระแงะ)
2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนมาตรการที่ 7 เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ ในพื้นที่แม่น้ำท่าจีน ณ วัดโพธิ์ราษฎร์ศรัทธาทำ ต.ไทรงาม อ.บางเลน จ.นครปฐม ร่วมกับหน่วยงานภายใต้ กอนช. และได้ติดตามฝนคาดการณ์ระบบ ONEMAP พบว่า ในช่วงเดือน ส.ค.นี้ จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น และได้ออกประกาศ กอนช. ฉบับที่ 9/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 15-20 ก.ค. 66 ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ได้ดำเนินการสำรวจวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณแม่น้ำท่าจีน โดยเฉพาะผักตบชวาที่มักจะแพร่ขยายพันธุ์และกระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการระบายน้ำในช่วงที่เกิดน้ำหลาก ทั้งในแม่น้ำสายหลักและจุดเชื่อมโยงกับแม่น้ำสายรองด้วย เพื่อนำไปสู่การวางแผนการกำจัดวัชพืชและบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ป้องกันปัญหาวัชพืชกีดขวางการระบายของน้ำและบรรเทาปัญหาน้ำล้นตลิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป