คปภ.ลงพื้นกรณีรถบัสนักวิ่งเทรลตกเหว
คปภ. ลงพื้นที่ทันทีให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณี “รถบัสตกเหวผาพญากูปรี”
นาย สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุรถบัสวิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา จังหวัดศรีสะเกษ ให้บริการรับส่ง
นักวิ่งที่ร่วมวิ่งในรายการ “สุรนารี เทรล รัน 2023 ซีซั่น 2” ชายแดนไทย-กัมพูชา ประสบอุบัติเหตุพุ่งชนราวสะพานตกเหว “ผาพญากูปรี” บริเวณถนน 2201 (เส้นทางเข้า-ออก ช่องผ่านแดนถาวรช่องสะงำ) บริเวณผาหินชัน หมู่ที่ 8 ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต จำนวน 4 ราย และบาดเจ็บ 49 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัย พร้อมทั้งติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่และนำระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยสำนักงาน คปภ. จังหวัดศรีสะเกษ ได้ลงพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยทันที และจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า รถบัสคันดังกล่าว เป็นรถที่ปลดประจำการจากกองทัพบก ซึ่งวิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวง วัดไพรพัฒนา ได้ทำการขอซื้อต่อมาปรับปรุงเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ โดยรถคันนี้อยู่ในระหว่างการขออนุญาตจดทะเบียนกับสำนักงานขนส่งจังหวัดศรีสะเกษ เพราะเป็นรถที่ใช้ในราชการมาก่อน จึงไม่ได้มีการทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 หรือ ประกันภัยรถภาคบังคับ รวมทั้งไม่ได้ทำประกันภัยรถภาคสมัครใจไว้
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิต มีสิทธิได้รับเงินค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นค่าปลงศพจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย จำนวนเงิน 35,000 บาท และกรณีผู้บาดเจ็บมีสิทธิได้รับเป็นค่ารักษาพยาบาลตามเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งสำนักงาน คปภ. จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ระหว่างการประสานงานเรื่องหลักฐานจากทายาทโดยธรรมของผู้เสียชีวิต หากได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วนก็จะเร่งจ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้นโดยเร็ว
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เร่งตรวจสอบว่าผู้เสียชีวิตทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เช่น ประกันชีวิต ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้ด้วยหรือไม่ และจากการตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย พบข้อมูลการทำประกันภัย 3 ราย ซึ่งได้ทำประกันภัยไว้กับ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นวันที่ 25 กันยายน 2557 วันสิ้นสุดความคุ้มครอง 25 กันยายน 2567 จำนวนเงินเอาประกันชีวิต 100,000 บาททำประกันภัยไว้กับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นวันที่ 11 มิถุนายน 2564 วันสิ้นสุดความคุ้มครอง 11 มิถุนายน 2569 จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท และทำประกันภัยไว้กับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นวันที่ 1 มีนาคม 2566 วันสิ้นสุดความคุ้มครอง 29 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวนเงินเอาประกันภัย 200,000 บาท กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุไว้กับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นวันที่ 1 กันยายน 2565 วันสิ้นสุดความคุ้มครอง 31 สิงหาคม 2566 จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุไว้กับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นวันที่ 31 สิงหาคม 2565 วันสิ้นสุดความคุ้มครอง 31 สิงหาคม 2566 จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท ส่วนผู้ประสบภัยรายอื่น ๆ อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล
ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะได้ประสานงานบริษัทประกันภัยเพื่อให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัยโดยเร็วต่อไปสำหรับผู้บาดเจ็บ 49 ราย กลับบ้านแล้ว 19 ราย และยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 30 ราย โดยรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ จำนวน 13 ราย โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จำนวน 3 ราย โรงพยาบาลภูสิงห์ จำนวน 4 รายโรงพยาบาลบัวเชด จำนวน 3 ราย โรงพยาบาลสุรินทร์ จำนวน 3 ราย โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน จำนวน 3 ราย และโรงพยาบาลตระการพืชผล จำนวน 1 ราย สำนักงาน คปภ. จังหวัดศรีสะเกษ ได้ประสานไปยังโรงพยาบาลดังกล่าว เพื่อแจ้งสิทธิประโยชน์ในการยื่นเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยแล้วนอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบ พบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในครั้งนี้ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาและกับทุกคน จึงขอรณรงค์ให้เจ้าของรถทุกคันที่มีรถไว้เพื่อใช้ต้องทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และตรวจสอบสภาพรถก่อนพร้อมใช้งาน ระมัดระวังในการขับขี่รถโดยไม่ประมาท รวมถึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัย ทั้งการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ การประกันภัยอุบัติเหตุ การประกันชีวิตและการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่ออย่างน้อยระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Add Line Official @oicconnect” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย