ฉากทัศน์รัฐบาลใหม่ ลุ้น โหวต พิธา นายกฯ คนที่ 30
ยกต่อไปของการจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค ที่มีก้าวไกล-เพื่อไทยเป็นแกนนำ คือ โหวต “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี
ยกต่อไปของการจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค ที่มีก้าวไกล-เพื่อไทยเป็นแกนนำ คือ โหวต “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี
สิ้นเสียงระฆังยกแรก เลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แม้มีการกระทับกระทั่งกันระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ผสมโรงกับข่าวปล่อยให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน แต่ไม่ลุกลามบานปลายทำให้ 8 พรรคฝ่านค้านเดิมต้องวงแตก
8 พรรค 312 เสียง ไม่แตกแถว ส่งให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา จากพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร หมออ๋อง-นายปดิพัทธ์ สันติภาดา จากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภา คนที่ 1 และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน จากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานสภา คนที่ 2
ยกที่สอง ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เวลา 09.30 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา นัดประชุมวาระการประชุมร่วมกันของรัฐภาพ ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง)
ระเบียบวาระการประชุม เรื่องเสนอใหม่ พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
โดยมีชื่อของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ – หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่จะถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ซึ่งต้องรับความเห็นชอบจาก ส.ส.และ ส.ว. 376 เสียงขึ้นไป จากทั้งหมดของทั้งสองสภา 750 คน
ฝั่งแรกที่จะเป็นฝ่ายเสนอชื่อก่อนเนื่องจากรวบรวมเสียงได้เกินครึ่ง-250 เสียง คือ 8 พรรค 312 เสียง จับมือกันแน่นจะเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.พรรคก้าวไกล 151 เสียง 2.พรรคเพื่อไทย 141 เสียง 3.พรรคประชาชาติ 9 เสียง
4.พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง 5.พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง 6.พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง 7.พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง และ 8.พรรคเป็นธรรม 1 เสียง
ฝั่งที่สองที่รอฉวยจังหวะ คือ 9 พรรค 188 เสียง ที่แสวงจุดร่วมด้วยผลประโยชน์ทางการเมือง ประกอบด้วย 1.พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง 2.พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง 3.พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง 4.พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง
5.พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง 6.พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง 7.พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง 8.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง พรรคใหม่ 1 เสียง และ 9.พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง
ฉากทัศน์ทางการเมืองในวันเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะสะท้อนไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล มีทั้งสูตรปกติตามวิถีทางประชาธิปไตยแบบสากลและสูตรพิสดาร-พันลึก ตามระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ
ฉากทัศน์รัฐบาลเสียงข้างมาก สูตร 1 รัฐบาลขั้วฝ่ายค้านเดิม 8 พรรค 312 เสียง ตามเอ็มโอยู 8 พรรค นายกฯ ต้องชื่อพิธา ก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มี “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี และ ส.ว.โหวตให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี
สูตร 2 รัฐบาลขั้วฝ่ายค้านเดิม 8 พรรค 312 เสียง แก้ไขเอ็มโอยู – สลับตัวนายกฯ กรณี ส.ว.ไม่โหวตให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่โหวตให้นายเศรษฐา เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มี “เศรษฐา” เป็นนายกรัฐมนตรี
สูตร 3 ข้ามขั้ว-สลายขั้ว เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่มี “ประวิตรเป็นนายกฯ” กรณี ส.ว.ไม่ต้องการให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ทำให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านโดยอัตโนมัติ
ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง + พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง + พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง + พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง + พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง + พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง + พรรค 1 เสียง
สูตร 4 สูตรไม่มี 2 ลุง – 2 ป.สละเรือ แต่ยังมีพรรคพลังประชารัฐกับพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และ “นายกฯเพื่อไทย” สลัดพรรคก้าวไกลให้ไปเป็นฝ่ายค้าน
ฉากทัศน์รัฐบาลเสียงข้างน้อย-รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ + เสียงงูเห่าและมีแนวโน้มว่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในวันข้างหน้า ภายใต้เงื่อนไข “ส.ว.ไม่แตกแถว” ต้องโหวตให้พล.อ.ประวิตร-พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
สูตร 1 รัฐบาลขั้วรัฐบาลเดิม+ ส.ส.งูเห่า-ส.ส.ฝากเลี้ยง มี “2 ลุงเป็นนายกฯ” พรรคพลังประชารัฐ-พรรครวมไทยสร้างชาติผนวกกำลังกันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
โดยต้องยอมเสียสละเก้าอี้รัฐมนตรี “กระทรวงเกรดเอ” ให้กับพรรคภูมิใจไทย
ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง-พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง + พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง + พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง + พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง + พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง + พรรค 1 เสียง
สำหรับพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ตั้งแต่ 25 คน ที่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรีได้ขณะนี้มีทั้งหมด 6 พรรค 9 คน ได้แก่
1.พรรคก้าวไกลมี ส.ส. 151 ที่นั่ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 2.พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. 141 ที่นั่ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เสี่ยนิด-นายเศรษฐา ทวีสิน อุ๊งอิ๊งค์-นางแพทธาร ชินวัตร และนายชัยเกษม นิติสิริ
3.พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.71 ที่นั่ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เสี่ยหนู-นายอนุทิน ชาญวีรกูล 4.พรรคลุงป้อม-พลังประชารัฐ มี ส.ส. 40 ที่นั่ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
5.พรรคลุงตู่-รวมไทยสร้างชาติ มี ส.ส. 36 ที่นั่ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บิ๊กตุ๋ย-นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ 6.พรรคเก่าแก่-ประชาธิปัตย์ มี ส.ส. 25 ที่นั่ง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อู๊ดด้า-นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
65 เสียง ส.ว.เป็นอย่างน้อย ที่พรรคก้าวไกลเดินสายล็อบบี้-โน้มน้าวใจให้ยกมือสนับสนุนนายพิธาเข้าทำเนียบรัฐบาล ขึ้นไปนั่งเก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหาร คนที่ 30
เช็กเสียง 250 ส.ว. ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรียังคง “เสียงแตก” จนกว่าจะถึงวันที่ 13 ก.ค.เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี
หากวิเคราะห์ท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นคนเลือก 250 ส.ว.มาด้วยตัวเอง งดให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง หรือจะเป็นการส่งสัญญาณไปถึงส.ว.ให้ “งดออกเสียง” หรือไม่
ขณะเดียวกันก็ออกตัวไม่ต้องการเข้าไปอยู่ในความขัดแย้ง ต้องการบอกว่าการที่นายพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกี่ยวกับพล.อ.ประยุทธ์ และไม่ต้องการให้ “ด้อมส้ม” เปลี่ยนเส้นทางมาจากชุมนุมที่รัฐสภา เปลี่ยนทิศมาล้อมทำเนียบรัฐบาลแทน
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ยืนอยู่บนภูดูอยู่เฉย ๆ แต่เฝ้ามองอยู่บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีอำนาจประกาศกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อเกิดสถานการณ์ชุมนุมรุนแรง และออกมา “คืนความสงบจบที่ลุงตู่” อีกครั้ง
หากวันที่ 13 ก.ค.พิธา โหวตไม่ผ่าน ยังมีให้ลุ้นอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ วันที่ 19 ก.ค.และ 20 ก.ค. ท่ามกลางดีลลับ-ดีลรัก ของคนแดนไกล
แต่ไฟต์บังคับต้องได้นายกรัฐมนตรีตามเที่ยวบินไฟท์ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” กลับถึงบ้าน