สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 มิ.ย.66 เวลา 7.00 น.
ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.กาญจนบุรี (98) จ.เชียงใหม่ (90) จ.พังงา (74) จ.เลย (72) จ.ตราด (49) และ จ.สุพรรณบุรี (38)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,881 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,486 ล้าน ลบ.ม. (51%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากในช่วง 1-3 วัน ได้แก่ จ.น่าน (อ.ท่าวังผา และบ่อเกลือ) จ.ระนอง (อ.เมืองระนอง และกะเปอร์) จ.ตราด (อ.บ่อไร่) จ.จันทบุรี (อ.ขลุง) จ.กาญจนบุรี (อ.เลาขวัญ) จ.ตรัง (อ.หาดสำราญ และกันตัง) จ.สตูล (อ.ควนกาหลง และทุ่งหว้า)
กรุงเทพมหานครร่วมกับกรมชลประทาน วางแผนแนวทางบริหารจัดการน้ำและเตรียมความพร้อมป้องกันการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในเดือน ก.ค. 66 รวมถึงเพื่อเตรียมความพร้อมกรณีเกิดปัญหาภาวะภัยแล้งต่อเนื่องในช่วงปี 2566-2567
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เร่งรัดโครงการแก้ไขน้ำท่วม-น้ำแล้ง ลดผลกระทบพื้นที่เกษตรและพื้นที่การค้าชายแดน จ.สระแก้ว
วานนี้ (29 มิ.ย. 66) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (หนองเอี่ยน-สตึงบท) จ.สระแก้ว โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 อย่างเคร่งครัด
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนการรับมือ หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจากสถานการณ์เอลนีโญ เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนประชาชนให้ทันกับสถานการณ์
กรมชลประทาน เร่งรัดดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาคลองพรมโหด และการก่อสร้างระบบส่งน้ำและอาคารประกอบโครงการอ่างเก็บน้ำแซร์ออ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ราบลุ่มตอนล่าง ใน ต.ท่าข้ามและเทศบาลเมืองอรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค ในช่วงหน้าแล้ง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการสำรวจและติดตามระดับน้ำในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อเตรียมความพร้อมในการแจ้งเตือนภัย และเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันเหตุการณ์ อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยง และความเสียหายทรัพย์สินของประชาชน ณ ลำน้ำแม่วาง บ.สบอาว ต.สันติสุข อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่
2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2566 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จ.สระแก้ว โดยเป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (หนองเอี่ยน-สตึงบท) ณ ด่านศุลกากรอรัญประเทศ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว หลังจากนั้นลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ ณ อ่างเก็บน้ำแซร์ออ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์ปลา-กุ้ง โดยได้มอบนโยบายด้านการบริหารจัดการน้ำว่า หากโครงการแก้ไขปัญหาคลองพรมโหด และการก่อสร้างระบบส่งน้ำและอาคารประกอบโครงการอ่างเก็บน้ำแซร์ออ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ราบลุ่มตอนล่าง ใน ต.ท่าข้ามและเทศบาลเมืองอรัญประเทศ และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในช่วงหน้าแล้งสำหรับใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค จึงได้เร่งรัดให้กรมชลประทาน ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างเบ็ดเสร็จให้ประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว อีกทั้งประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว รองนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 66 ให้ชัดเจน ทั้ง 12 มาตรการอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือ หากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจากสถานการณ์เอลนีโญเพื่อให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์
4. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม ดังนี้ จังหวัดน่าน (อำเภอท่าวังผา) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่) จังหวัดตรัง (อำเภอหาดสำราญ และกันตัง) จังหวัดสตูล (อำเภอควนกาหลง และทุ่งหว้า) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง)