สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 มิ.ย.66 เวลา 7.00น.
ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ระนอง (150) จ.อุทัยธานี (101) จ.เลย (92) จ.นครนายก (78) จ.กาญจนบุรี (64) จ.สุพรรณบุรี (26)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,004 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,600 ล้าน ลบ.ม. (51%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ จ. น่าน (อ.แม่จริม ปัว และท่าวังผา)
กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอกและตักย้ายวัสดุที่ได้จากการขุดลอกในแม่น้ำแม่ทา ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางแล้วเสร็จสะสม 2,500 เมตร ผลที่คาดว่าจะได้รับหลังการขุดลอก เพิ่มพื้นที่หน้าตัดของร่องน้ำ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก การอุปโภค บริโภค และการเกษตร ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขุดลอก ประมาณ 600 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 800 ไร่
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมประเมินสถานการณ์น้ำ พบว่า ปัจจุบันปรากฎการณ์เอนโซได้เข้าสู่สภาวะเอลนีโญแล้ว แต่เนื่องจากยังเป็นเอลนีโญกำลังอ่อนและจะกลายเป็นเอลนีโญกำลังปานกลางในช่วง ต.ค. – ธ.ค. 66 จึงต้องมีการใช้ฝน ONE MAP เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำต้นฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 โดยคาดว่าจะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ทั่วประเทศ จำนวน 46,177 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 65% ของความจุรวม
จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า สภาวะเอลนีโญจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงกลางปี 67 และค่อนข้างมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาว 2 ปี เพื่อสำรองน้ำล่วงหน้าไว้สำหรับการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ในฤดูแล้งหน้า ไปจนถึงส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปีในช่วงฤดูฝน ปี 67 เพื่อยืนยันผลผลิตให้แก่เกษตรกรด้วย หากเกิดกรณีฝนน้อย
การให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งในช่วงฤดูฝน กอนช. มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน เช่น อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่ง กอนช. ได้ประสานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้มีการเคลื่อนย้ายเครื่องจักรและเครื่องสูบน้ำระยะไกลจากส่วนกลางเพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือ รวมถึง สทนช. ได้มีการประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมแก้ไขปัญหา โดยปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
1.1 กรุงเทพมหานคร ดำเนินการเก็บขยะและวัชพืช เตรียมพร้อมรับฝน โดยได้ดำเนินการในหลายจุด ได้แก่ คลองซอยที่ 9 พื้นที่เขตคลองสามวา คลองลำปลาทิว พื้นที่เขตหนองจอก คลองหนึ่ง พื้นที่เขตลาดกระบัง คลองบางมะเขือ พื้นที่เขตวัฒนา คลองประเวศบุรีรมย์ พื้นที่เขตลาดกระบัง
1.2 การประปาส่วนภูมิภาค รับมือฝนทิ้งช่วง เพื่อลดการขาดแคลนน้ำดิบถาวร เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ไม่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมการจัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับรองรับปัญหาดังกล่าวประกอบด้วย 1. สำรวจหาแหล่งน้ำดิบสำรองจากแหล่งน้ำจากบ่อทราย วัดต้นตาล บางสะพานน้อย 2. เพิ่มระบบโมบายแพล้นกรองน้ำ 3. จัดหาแหล่งน้ำเพิ่มของ บริษัท สหวิริยา บริเวณเขากะจิ 4. นำแหล่งน้ำบาดาลมาใช้ 5. การทำฝนเทียม
2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย
มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง
3. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ค. ถึงปัจจุบัน)
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 12,819 ล้าน ลบ.ม. (27%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 15,701 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,049 ล้าน ลบ.ม. (39%)
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ พบว่า ปัจจุบันปรากฎการณ์เอนโซได้เข้าสู่สภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน จึงส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 จนถึงปัจจุบันปริมาณฝนค่อนข้างน้อย โดยต่ำกว่าค่าปกติ 28% และอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าทุกปี ทำให้ในช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องมาจนถึงฤดูฝน มีการจัดสรรน้ำเพื่อส่งเสริมด้านการเพาะปลูกพืชในจำนวนค่อนข้างมาก จากแผนจัดสรรน้ำฤดูฝนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะนี้จัดสรรน้ำไปแล้ว 51% ของแผนทั้งหมด เพื่อเป็นการส่งเสริมการเพาะปลูกของเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากไม่สามารถปลูกข้าวนาปีโดยใช้น้ำฝนเป็นหลักได้จากผลกระทบของเอลนีโญ โดยขณะนี้ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.84 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 71% ของแผนการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝนปีนี้