สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 มิ.ย.66 เวลา 7.00น.
ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส (164) จ.นครสวรรค์ (50) กรุงเทพมหานคร (34) จ.ระยอง (24) จ.นครพนม (12) และ จ.กาญจนบุรี (5)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,381 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,966 ล้าน ลบ.ม. (52%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี ยกเว้นแม่น้ำบางปะกง ค่าออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการก่อสร้างระบบผลิตน้ำดื่มสะอาดช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่สูงถิ่นทุรกันดาร สนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ จำนวน 22 โครงการ ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ ตาก ภายใต้งบประมาณประจำปี 2566 (งบเหลือจ่าย) ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะมีประชาชนในพื้นที่สูงถิ่นทุรกันดารได้รับประโยชน์จำนวน 7,500 ครัวเรือน 27,000 คน
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ ภาคเหนือ บริเวณ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
กอนช. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง คาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น
วานนี้ (22 มิ.ย. 66) กอนช. ติดตามติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันที่ 20 – 21 มิ.ย. 66 แม่น้ำโขงบริเวณสถานีวัดน้ำจิ่งหง (จีน) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้นสะสม 1,210 ลบ.ม./วินาที (ระดับน้ำเพิ่มขึ้นสะสม 1.55 ม.) และวานนี้ (22 มิ.ย. 66) ปริมาณน้ำไหลผ่านลดลง 320 ลบ.ม./วินาที (ระดับน้ำลดลงจากเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 66 ประมาณ 0.36 ม.) ผลการวิเคราะห์เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำดังกล่าว ประกอบกับคาดการณ์ปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง คาดว่าแม่น้ำโขงฝั่งไทยอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ ดังนี้
1. แม่น้ำโขงบริเวณสถานีวัดน้ำเชียงแสน จ.เชียงราย คาดว่าระดับน้ำเพิ่มขึ้นสะสมประมาณ 1 – 1.5 ม. ในช่วงวันที่ 22 – 24 มิ.ย. 66 และจะเริ่มลดลงในวันที่ 25 มิ.ย. 66
2. แม่น้ำโขงบริเวณสถานีวัดน้ำเชียงคาน จ.เลย คาดว่าระดับน้ำเพิ่มขึ้นสะสมประมาณ 1 – 1.5 ม. ในช่วงวันที่ 24 – 26 มิ.ย. 66 และจะเริ่มทรงตัวในวันถัดไป
3. แม่น้ำโขงตั้งแต่บริเวณสถานีวัดน้ำหนองคาย จ.หนองคาย ถึงสถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี คาดว่าระดับน้ำเพิ่มขึ้นสะสมประมาณ 0.8 – 1.2 ม. ในช่วงวันที่ 26 – 28 มิ.ย. 66 และจะเริ่มทรงตัวในวันถัดไป
ทั้งนี้ กอนช. ขอให้ จ.นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โปรดประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนผู้ที่อาศัยในบริเวณในบริเวณพื้นที่แม่น้ำโขง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมเจ้าท่า ปฏิบัติงานกำจัดผักตบชวาและวัชพืช บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ต.ธรรมมามูล และบุ่งหาดกองสิน ต.เขาท่าพระ อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท โดยดำเนินการกำจัดผักตบชวาฯ ตามแผนงานจำนวน 148,000 ตัน ระยะเวลาดำเนินการ 300 วัน ผลการปฏิบัติงานถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2566 สามารถกำจัดผักตบชวาฯได้จำนวน 100,350 ตัน คิดเป็น ร้อยละ 67.80 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานจะช่วยแก้ไขปัญหาการเดินเรือและฟื้นฟูสภาพร่องน้ำ ปัญหาการสัญจรทางน้ำและการระบายน้ำ และปัญหาการอุปโภค – บริโภค โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ได้แก่ ประชาชนทั่วไปที่สัญจรทางน้ำ ผู้ประกอบการเดินเรือต่างๆ และเกษตรกร ชาวประมง และผู้ใช้น้ำในพื้นที่
2. สภาพอากาศ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อน ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เวทีที่ 2 นำเสนอร่างผังน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ณ โรงแรมนิว แทรเวิล ลอด์จ อำเภอเมือง จันทบุรี โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 150 คน เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำกลับไปปรับปรุงผังน้ำให้มีความถูกต้องและสมบูรณ์ต่อไป ซึ่งผังน้ำเป็นการนำเสนอชุดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงในรูปของแผนที่ หรือแผนผังที่แสดงระบบทางน้ำซึ่งเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงทางออก โดยผังน้ำจะครอบคลุมไปถึงแหล่งน้ำ ทางน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น อาจมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีหรือบางช่วงเวลาก็ได้ เมื่อการจัดทำผังน้ำแล้วเสร็จ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะได้ทราบว่าตนเองอยู่ในจุดเสี่ยงน้ำท่วมหรือไม่ คณะกรรมการลุ่มน้ำมีข้อมูลประกอบในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดวางโครงการเพื่อการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง/น้ำท่วม ตลอดจนการอนุมัติ/อนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่จะไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนหรือกีดขวางการไหลของน้ำ อีกทั้งผังน้ำดังกล่าว จะนำไปเชื่อมโยงกับผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนด การใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์ แหล่งน้ำในภาพรวมของประเทศให้เกิดประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบต่อไปได้
4. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม ดังนี้ จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง)