ต่างชาติแห่ซื้อบ้านชลบุรีแซงหน้า กทม.
ตลาดบ้านกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากรัฐบาลเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว
ดันยอดโอนทะลุทุบสิถิติ หลังผ่านพ้นโควิด จีนยังครองแชมป์อันดับหนึ่ง ขณะที่ พม่านิยมซื้อบ้านในไทยราคา เฉลี่ย 6.5 ล้านบาทนายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานว่า สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวนหน่วยโอนฯ ขยายตัว 79.2% มูลค่าการโอนฯ ขยายตัว 67.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จับตาพื้นที่ชลบุรี ขยับสัดส่วนการโอนฯ ห้องชุดของคนต่างชาติขึ้นเป็นอันดับ 1 ครั้งแรก โดยมีสัดส่วน 42.4%
ขณะที่กรุงเทพมหานครขยับลงมาเป็นอันดับ 2 ที่สัดส่วน 37.7% หลังจากครองแชมป์ยาวตั้งแต่ปี 2561-2565 การโอนฯห้องชุดของคนต่างชาติเพิ่มสัดส่วนเป็น 15.9% ของจำนวนหน่วย และ 24.3% ของมูลค่า และยังคงเกาะกลุ่มที่ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบ “พม่า” ซื้อราคาเฉลี่ยต่อหน่วยสูงสุดที่ 6.5 ล้านบาท ขณะที่ “อินเดีย” ซื้อขนาดห้องเฉลี่ยใหญ่สุดที่ 77.7 ตร.ม.
“จากการประมวลภาพของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั้งหมด ทำให้เห็นปริมาณทั้งในมิติของจำนวนหน่วย มูลค่าและพื้นที่ มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงที่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยมีข้อสังเกตต่อว่า ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้ เกิดจากประเทศต่าง ๆ มีการเปิดให้ประชาชนของตนมีการเดินทางระหว่างกันได้ โดยเฉพาะประเทศจีน” นายวิชัย กล่าวและกล่าวต่อว่า
การเปิดประเทศและเริ่มดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ระหว่างประเทศทั่วโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญที่ช่วยทำให้จำนวนหน่วย มูลค่า และพื้นที่ ที่มีการขายและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มชาวยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รัสเซีย และกลุ่มชาวเอเชีย แต่กลุ่มหลักยังคงเป็นชาวจีน ซึ่งส่งผลให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยชาวต่างชาติที่มีการทำสัญญาซื้อขายก่อนหน้าสามารถกลับมารับโอนกรรมสิทธิ์ได้เพิ่มขึ้น และยังมีชาวต่างชาติอีกส่วนหนึ่งที่ซื้อห้องชุดที่สร้างเสร็จเหลือขายและห้องชุดมือสองเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นเป็น 15.9% จากเพียง 10.6% ในปี 2565 และสัดส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติก็เพิ่มขึ้นเป็น 24.3% จาก 19.5% ในปี 2565
ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศในไตรมาส 1 ปี 2566 พบว่าทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 3,775 หน่วย ขยายตัว 79.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565ส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศมี 17,128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 2565 ขณะที่พื้นที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศ 168,664 ตารางเมตร เพิ่มขึ้น 73.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
นายวิชัย กล่าวว่า การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ มีสัดส่วนของห้องชุดใหม่ต่อห้องชุดมือสอง ในด้านจำนวนหน่วยเป็น 59% : 41% ในด้านมูลค่าเป็น 70% : 30% และในด้านพื้นที่เป็น 53% : 47% โดยภาพรวมการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมือสองมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วย มูลค่า และขนาดพื้นที่ โดยมีข้อสังเกตว่า คนต่างชาติอาจมีความต้องการห้องชุดมือสองในบางทำเล เช่น ทำเลพื้นที่ชั้นใน หรือ พื้นที่ใกล้ศูนย์กลางธุรกิจของเมือง ซึ่งในปัจจุบันมีอุปทานให้เลือกน้อยลง ประกอบกับราคาห้องชุดมือสองในทำเลเหล่านี้มีราคาที่ต่ำกว่าโครงการเปิดใหม่ คนต่างชาติจึงให้ความสนใจในการซื้อห้องชุดมือสอง และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการซื้อห้องชุดของคนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อชาวจีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมัน ตามลำดับ
“ระดับราคาห้องชุด พบว่า การโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติในไตรมาส 1 ปี 2566 มีจำนวนหน่วยมากที่สุดในช่วงราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมีการโอนฯ จำนวน 1,900 หน่วย มีมูลค่า 3,431 ล้านบาท มีสัดส่วนของหน่วยโอนฯสูงสุดถึง 50.3% แต่มีสัดส่วนมูลค่าโอนฯเพียง 20% เท่านั้น ทั้งนี้พบว่า ห้องชุดราคาไม่เกิน 3ล้านบาท เป็นระดับราคาที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่นิยมซื้อตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน
สำหรับห้องชุดที่ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติน้อยสุดคือ ช่วงราคา 7.51 – 10.00 ล้านบาท มีจำนวนน้อยที่สุดทั้งจำนวนหน่วยเพียง 203 หน่วย และมีมูลค่า 1,729 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.4% และ 10.1% ตามลำดับแม้ว่า ห้องชุดที่ราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป จะมีจำนวน 303 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 8% แต่มีมูลค่าการโอนฯ สูงสุดถึง 5,475 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 32%
สำหรับสัญชาติของผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ ชาวจีนก็ยังคงเป็นสัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีนไปแล้วทั้งหมด 1,747 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 46.3% ของหน่วยทั้งหมด โดยมี 4 สัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์อันดับรองลงมา ได้แก่ รัสเซีย 387 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 10.3% ถัดมาคือ สหรัฐอเมริกา 156% หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 4.1% สหราชอาณาจักร 146 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 3.9% อับดับ 5 คือ เยอรมัน 131% หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 3.5% ตามลำดับในส่วนของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศให้คนต่างชาติทั่วประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – มีนาคม) จะพบว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีน เป็นมูลค่าสูงสุด 8,191 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 47.8% ของมูลค่าทั้งหมด ส่วน 4 สัญชาติที่มีมูลค่าการโอนรองลงมาคือ รัสเซีย 1,364 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8% ถัดมา คือ สหราชอาณาจักร 703 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.1% สหรัฐอเมริกา 653 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.8% และเยอรมนี 611 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.6% ตามลำดับ
ทั้งนี้ หากดูยอดจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดสะสมในระหว่างปี 2561 ถึง ปี 2565 สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และ ฝรั่งเศส แต่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 อันดับ 5 มีการเปลี่ยนแปลงจากสัญชาติฝรั่งเศส เป็น เยอรมนี
นอกจากนี้ ยังพบกว่า พม่า โอนต่อหน่วยสูงสุด เฉลี่ย 6.5 ล้านบาท อินเดีย โอนห้องใหญ่ที่สุดเฉลี่ย 77.7 ตารางเมตร ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 ห้องชุดที่ชาวต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์มีพื้นที่เฉลี่ย 44.7 ตารางเมตร/หน่วย มูลค่าเฉลี่ย 4.5 ล้านบาท/หน่วย หรือประมาณตารางเมตรละ 101,553 บาท สัญชาติที่มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด 10 ลำดับแรก พบว่า พม่าเป็นสัญชาติที่มีมูลค่าการโอนต่อหน่วยสูงสุด เฉลี่ย 6.5 ล้านบาทต่อหน่วย และอินเดีย เป็นสัญชาติที่โอนห้องชุดขนาดใหญ่ที่สุดเฉลี่ย 77.7 ตารางเมตร โดยชาวจีนซึ่งเป็นสัญชาติที่มีสัดส่วนการโอนห้องชุดมากที่สุด จะมีมูลค่าการโอนเฉลี่ย 4.7 ล้านบาท/หน่วย และพื้นที่ห้องชุดเฉลี่ย 38.8 ตารางเมตร/หน่วย
จังหวัดที่มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคนต่างชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ชลบุรี กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน 2 จังหวัดแรก คือ ชลบุรี มีจำนวน 1,601 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 42.4๔ และกรุงเทพฯ 1,423 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 37.7๔ ตามลำดับ โดยทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยรวมกันสูงถึง 80.1% ของทั่วประเทศ แต่เมื่อพิจารณาย้อนหลังไปถึงปี 2561 พบว่า ชลบุรีมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติมากกว่ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในไตรมาส 1 ปี 2566
ด้านจังหวัดที่มีจำนวนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคนต่างชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน 2 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพฯ มีมูลค่า 9,976 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 58.2% และชลบุรี มีมูลค่า 4,557 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 26.6% ตามลำดับ โดยทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนมูลค่ารวมกันสูงถึง 84.8% ของทั่วประเทศ เมื่อพิจารณาย้อนหลังไปถึงปี 2561 พบว่า กรุงเทพฯ และชลบุรี ยังคงเป็นจังหวัดที่มีจำนวนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติในสัดส่วนที่มากที่สุดเช่นเดียวกัน ส่วนอันดับรองลงมาเป็นจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ ภูเก็ตและเชียงใหม่ เป็นต้น