สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 มิ.ย. 66
ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ระยอง (102) จ.ยะลา (77) จ.น่าน (63) จ.สมุทรปราการ (65) จ.กาญจนบุรี (33) จ.บึงกาฬ (24)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,467 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 37,052 ล้าน ลบ.ม. (52%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ ไม่พบพื้นที่เสี่ยง
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบประปาบาดาลในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี บริเวณบ้านประดู่เหลี่ยม หมู่ที่ 17 ตำบลหนองปลิง และบ้านหนองโสน หมู่ 1 ตำบลหนองโสน อำเภอเลาขวัญ บ้านสี่กั๊กหมู่ที่ 6 และบ้านทุ่งกระบ่ำ หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งกระบ่ำ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
กอนช.ติดตามการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
กรมชลประทาน ตรวจสอบพื้นที่ สำรวจสภาพปัจจุบันของโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยตลอดวัน ได้มีการลงพื้นที่สำรวจในหลายจุด เช่น พื้นที่จุดที่ตั้งหัวงานเขื่อน แนวถนนทดแทน เส้นทางเดิมที่จะถูกน้ำท่วม พื้นที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงบริเวณชุมชนปลายอ่างเก็บน้ำ สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ บ้านใหม่ปางเติม ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ และตั้งอยู่บนลุ่มน้ำแม่ขาน (ลุ่มน้ำย่อย ของลุ่มน้ำปิง) มีต้นกำเนิดจากแนวเทือกเขาถนนธงชัย เขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขานและป่าแม่วาง แต่เดิมตลอดลุ่มน้ำแม่วาง ประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งรุนแรง ประชาชนใน 3 อำเภอ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและอุปโภค-บริโภค กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างฝาย และพัฒนาระบบส่งน้ำไว้ในพื้นที่ด้านล่างแล้ว (จำนวน 11 แห่ง) แต่ขาดแหล่งน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง จะเป็นโครงการที่ช่วยเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำของลุ่มปิงให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง เมื่อแล้วเสร็จ สามารถเก็บกักน้ำได้ 25.42 ล้าน ลบ.ม. จะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ ประมาณ 48,780 ไร่ ทั้งนี้ในการดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องศึกษา ให้ละเอียดรอบด้านและครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน วิถีชีวิตของเกษตรกร และแหล่งท่องเที่ยวของพื้นที่ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้โครงการเกิดประโยชน์สูงสุด และมีผลกระทบน้อยที่สุด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ดังนี้
ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมเจ้าท่า ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ภายใต้การบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการบรรเทา ความเดือดร้อนของประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดน้ำท่วมขังช่วงฤดูฝน โดยกรมเจ้าท่ารับผิดชอบดำเนินการในแม่น้ำสายหลักท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท และท้ายเขื่อนพระราม 6 จังหวัดสระบุรี ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 160 กิโลเมตร แม่น้ำป่าสัก ระยะทาง 50 กิโลเมตร แม่น้ำน้อย ระยะทาง 42 กิโลเมตร แม่น้ำลพบุรี ระยะทาง 67 กิโลเมตร และเหนือเขื่อนแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสะแกกรัง ระยะทาง 20 กิโลเมตร แม่น้ำท่าจีนสายเก่า ระยะทาง 10 กิโลเมตร และคลองสาขารวมระยะประมาณ 400 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ปฏิบัติงานกำจัดผักตบชวา
ในพื้นที่ ดังนี้ แม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลแคตก อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คลองบางกระสั้น อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงบึงหาดกองสิน อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท และคลองป่าแสก ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
สภาพอากาศ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่ หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตรขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2566 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 นำเสนอร่างผังน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ณ โรงแรมสตาร์ คอนเวนชั่นระยอง จังหวัดระยอง โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 150 คน ซึ่งผังน้ำเป็นการนำเสนอชุดข้อมูลหรือข้อเท็จจริงในรูปของแผนที่หรือแผนผังที่แสดงระบบทางน้ำ ซึ่งเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงทางออกโดยผังน้ำจะครอบคลุมไปถึงแหล่งน้ำ ทางน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น อาจมีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปีหรือบางช่วงเวลาก็ได้ ทั้งนี้เมื่อการจัดทำผังน้ำแล้วเสร็จ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะทราบว่าตนเองอยู่จุดเสี่ยงน้ำท่วมหรือไม่ คณะกรรมการลุ่มน้ำมีข้อมูลประกอบในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม หน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดวางโครงการเพื่อการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง-น้ำท่วม ตลอดจนการอนุมัติ อนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่จะไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนหรือกีดขวางการไหลของน้ำ อีกทั้งผังน้ำดังกล่าวจะนำไปเชื่อมโยงกับผังเมืองตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำในภาพรวมของประเทศให้เกิดประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบต่อไปได้