บิ๊กตู่ ปลื้มขีดความสามารถแข่งขันไทยดีขึ้น3ขั้นอันดับที่ 30
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดีภาพรวมผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปี 2566
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ประจำปี 2566 ไทย อยู่อันดับที่ 30 ดีขึ้น 3 อันดับจากปีก่อน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในปี 2566 ของ IMD พบว่า ลำดับของ ประเทศไทย ดีขึ้น 3 อันดับจากเดิมอยู่ในอันดับที่ 33 ในปี 2565 อยู่ที่อันดับ 30 โดยผลการจัดอันดับปัจจัยหลักทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่
1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ อยู่ที่อันดับ 16 ดีขึ้น 18 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 34)
2. ประสิทธิภาพภาครัฐ อยู่ที่อันดับ 24 ดีขึ้น 7 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 31)
3. ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ อยู่ที่อันดับ 23 ดีขึ้น 7 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 30) และ
4. โครงสร้างพื้นฐาน อยู่ที่อันดับ 43 ดีขึ้น 1 อันดับ (ปี 2565 อันดับ 44)
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2566 IMD ได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยในภาพรวม ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นทั้งหมดจากผลการจัดอันดับปัจจัยหลักทั้ง 4 กลุ่ม แต่มีปัจจัยย่อยด้านการศึกษา สุขภาพและสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ ที่อันดับลดลง ซึ่งเมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับในปีนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีทาง “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” อันดับขยับขึ้นถึง 18 อันดับ ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าสาเหตุหลักเป็นผลมาจากปัจจัยย่อยทุกด้านทั้งด้านเศรษฐกิจในประเทศ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การจ้างงาน และระดับราคามีอันดับดีขึ้น จึงส่งผลให้อันดับทางด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
“นายกรัฐมนตรีขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ทำให้รัฐบาลทำงานได้อย่างเต็มที่เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจากการจัดอันขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศนี้ ซึ่งจัดโดยหน่วยงานที่มีชื่อเสียงอย่าง IMD ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่ผลการจัดอันดับ 4 ปัจจัยหลักดีขึ้น ถือเป็นกำลังใจสำคัญที่สุดในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมรรถนะในทางเศรษฐกิจ ที่สะท้อนทิศทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ของรัฐบาล อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ ยกระดับกำลังคนสมรรถนะสูง รวมทั้งพัฒนาประเทศอย่างสมดุลสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมเกราะให้ประเทศพร้อมรับกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” นายอนุชาฯ กล่าว