สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 18 มิ.ย. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตรัง (134) จ.นครพนม (134) จ.จันทบุรี (115) จ.อุทัยธานี (89) จ.กาญจนบุรี (58) และ จ.ปทุมธานี (46)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,640 ล้าน ลบ.ม. (51%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 37,237 ล้าน ลบ.ม. (52%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี ยกเว้นแม่น้ำบางปะกง ค่าออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บินปฏิบัติการฝนหลวง ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร พิจิตร สุโขทัย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และสระแก้ว
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ ภาคตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี ตราด และระยอง
กอนช. ติดตามหน่วยงานเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์
เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงต้นฤดูทำนาปีและในช่วงฤดูแล้ง ส่วนในช่วงฤดูฝนจะเกิดปัญหาน้ำล้นตลิ่งและไหลเข้าท่วมที่ราบลุ่มริมลำน้ำ ทั้งริมฝั่งลำปาวและบริเวณที่ลำปาวบรรจบกับแม่น้ำชี ประกอบกับความต้องการใช้น้ำที่เปลี่ยนแปลง เช่น เกษตรกรหันไปนิยมการเลี้ยงกุ้งและการประมง กรมชลประทาน จึงได้วางแนวทางในการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มความจุอ่างฯ ครั้งแรกเมื่อปี 2533 ปรับเพิ่มจาก 990 ล้าน ลบ.ม. เป็น 1,430 ล้าน ลบ.ม. และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2554 สามารถปรับเพิ่มความจุอ่างฯ ได้ถึง 1,980 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับแนวทางในการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการฯ ประกอบไปด้วย การปรับปรุงซ่อมแซมหัวงานเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ และการปรับปรุงระบบชลประทานเดิม โดยหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ชลประทาน บริเวณที่ราบลุ่มริมลำน้ำริมฝั่งลำปาว และบริเวณลำปาวบรรจบแม่น้ำชี พร้อมเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค-บริโภค การประปา และอุตสาหกรรมขนาดเล็กในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ สามารถส่งน้ำและระบายน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ 306,963 ไร่
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
1.1 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวง เตรียมรับมือฝนทิ้งช่วง ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 27 จังหวัด (จ.เชียงใหม่ จ.ลำปาง จ.ตาก จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.กาญจนบุรี จ.ขอนแก่น จ.หนองบัวลำภู จ.เลย จ.ชัยภูมิ จ.อุดรธานี จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร จ.ระนอง) เติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 22 แห่ง (เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ่างเก็บน้ำคลองน้ำไหล อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว อ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง บึงบอระเพ็ด เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำปาว อ่างเก็บน้ำโสกรวก อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อ่างเก็บน้ำอำปึล อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว อ่างเก็บน้ำสุวรรณาภา อ่างเก็บน้ำห้วยลำพอก เขื่อนขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำคลองวังบอน อ่างเก็บน้ำคลองกลาง อ่างเก็บน้ำเขาอีโต้1 อ่างเก็บน้ำคลองไม้ปล้อง เขื่อนแก่งกระจาน)
1.2 กรมทรัพยากรน้ำ เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน ตรวจสอบ ซ่อมบำรุงสถานีเตือนภัยล่วงหน้าน้ำดินถล่มในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและสงขลา มาตรการที่ 4 ให้มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งาน สามารถทำงานตรวจวัด และแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าได้เต็มศักยภาพ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ลดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างทันท่วงที ในกรณีเกิดภัย
2. สภาพอากาศ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ บริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการการพัฒนารูปแบบการ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำ ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 17-18 มิ.ย. 66 ณ โรงแรมเอบีน่าเฮาส์ เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ ฐานะหน่วยงานกลางด้านน้ำของประเทศ ทั้งงานในด้านนโยบาย และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมทุกมิติ สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืน
4. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม จำนวน 3 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดจันทบุรี (ขลุง เขาคิชฌกูฏ และท่าใหม่) จังหวัดตราด (บ่อไร่) และจังหวัดระยอง (เขาชะเมา)