สตาร์ค ภัยเงียบที่ ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์เมิน
ผู้เสียหายจากการลงทุนในบริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) ต่างร้องระงม หลังจาก ก.ล.ต.และ ตลท.ไม่มีมาตราการควบคุมที่ชัดเจน
สภาองค์กรของผู้บริโภค เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจเต็มที่ในการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ ตรวจสอบและเยียวยาผู้ถือหุ้นกู้ บมจ. สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK) เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุน กังวลซ้ำรอยกรณีหุ้น บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ที่สร้างความเสียหายหนักให้นักลงทุน พร้อมเสนอหน่วยงานกำกับเข้มธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ – บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้าไปลงทุน
จากกรณี STARK บริษัทประกอบธุรกิจด้านสายไฟ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ได้ขอเลื่อนส่งงบการเงินประจำปี 2565 จนปัจจุบันมีการขอเลื่อนทั้งหมด 3 รอบ รวมทั้งก่อนหน้านี้บริษัทฯ ยังมีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายไม่โปร่งใสในหลายๆ เรื่อง ทั้งสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ การยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้น การส่งงบการเงินประจำปี 2565 ไม่ทันกำหนด รวมถึงการประกาศลาออกของกรรมการบริหารทั้งหมด และต่อมาบริษัทฯ ได้ออกมายอมรับว่าอาจมีการทุจริตขึ้นภายในองค์กร จนทำให้ ตลท.ขึ้นสถานะห้ามซื้อขายหุ้นดังกล่าวในวันที่ 1 มี.ค.2566 เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อนักลงทุนในตลาด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ STARK ยังมีหุ้นกู้ที่ต้องชำระให้กับนักลงทุนถึง 5 รุ่น เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 9,200 ล้านบาท การที่บริษัทฯ ไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนดและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนถึงปัจจุบัน ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่าบริษัทอาจเข้าข่ายผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment) และทำให้นักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นกู้เกิดความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น
นายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นหากเป็นความเสี่ยงทั่วไปจากการลงทุนนั้น คาดว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังยอมรับกับสภาพที่เกิดขึ้นได้ แต่หากเป็นความเสี่ยงจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีเจตนาทุจริตและพยายามนำเงินของนักลงทุนไปดำเนินการในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่สุจริต ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรให้นักลงทุนต้องแบกรับความเสี่ยงในส่วนนี้
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้สำนักงาน ก.ล.ต. เร่งออกมาตรวจสอบและเยียวยาความเสียหายจากกรณีดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคที่เข้าไปลงทุน โดยต้องออกมาตรการแก้ไขปัญหาที่เป็นขั้นตอนเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและต้องทำให้สังคมเห็นว่า ก.ล.ต. สามารถกำกับดูแลหรือบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทที่เข้าข่ายไม่สุจริตหลอกลวงอย่างเข้มข้นและทันต่อสถานการณ์ รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ทำผิดกฎหมายในตลาดหลักทรัพย์อย่างจริงจังและโดยด่วน
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีบทเรียนหลายครั้งแล้วที่ผ่านมาจากหลายบริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติการณ์เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเป็นอันตรายต่อตลาดทุนด้วย ก.ล.ต. จึงควรมีมาตรการและบังคับใช้กฎหมายในเชิงป้องกันมากกว่าตามแก้ปัญหา
“เราในฐานะผู้บริโภคที่เดินเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์คงไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่าบริษัทใด หรือใครที่จะหลอกลวง ซึ่งหน้าที่ของคนที่ต้องรู้ให้ได้ก่อนเรา คือ ก.ล.ต. และเมื่อรู้แล้วต้องพยายามจัดการกับผู้ที่ทำผิดกฎหมายหรือผู้ที่ทำไม่ถูกตามเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้าไปลงทุนโดยสุจริต” จิณณะ ระบุ
อย่างไรก็ตาม หุ้น STARK ได้ดึงดูดบรรดาบริษัทต่าง ๆ สถาบันการเงินชั้นนำเข้ามาลงทุนในหุ้นตัวนี้ได้เป็นจำนวนมาก โดยที่บรรดากองทุนหรือสถาบันการเงินทั้งหลายนำเงินจากประชาชนที่นำมาลงทุน หรือผ่านตราสารหนี้ หรือผ่านการระดมทุน เป็นเงินที่มาจากประชาชน มีผลกระทบมากส่วนใหญ่ผู้ที่เลือกเข้ามาลงทุนในกองทุนหรือตราสารหนี้เหล่านี้เป็นคนวัยเกษียณที่มีความรู้สึกว่าการลงทุนในลักษณะนี้ได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินโดยทั่วไป จึงได้นำเงินมาลงทุนเพื่อยังชีพในยามเกษียณ
“เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทำให้เงินต้นหายหมด รวมทั้งยังไม่ได้รับดอกเบี้ยอีกด้วย เท่าที่ทราบคือมีผู้เสียหายบางรายถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย เพราะคาดหวังว่าจะนำเงินเกษียณที่นำไปลงทุนเพิ่มเติมมาดูแลตัวเองยามชรา แต่เมื่อเป็นแบบนี้จึงส่งผลกระทบกับทั้งชีวิตของเขาเลย” อนุกรรมการด้านการเงินฯ สภาผู้บริโภค ระบุ
นอกจากนี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการเข้าไปลงทุนต่าง ๆ เป็นอีกสิ่งที่สังคมควรจับตามองและตั้งคำถามด้วยเช่นกัน โดยเห็นว่า ก.ล.ต. ควรออกมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมบริษัทผู้ประเมินและจัดอันดับความน่าเชื่อถือเครดิตโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ในไทยนั้นมีเพียง 2 บริษัทเท่านั้น เพราะข้อมูลจากบริษัทเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนใช้เพื่อตัดสินใจเข้าไปลงทุนในบริษัทต่าง ๆ แต่ถ้าหากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อไม่พยายามประเมินหรือไม่ทำหน้าที่ตามวิชาชีพ รวมถึง ก.ล.ต. ที่อาจไม่มีการกำกับดูแลที่รัดกุมมากพออาจทำให้มีผลเสียกับนักลงทุนที่เชื่อถือการจัดลำดับความน่าเชื่อถือเหล่านี้และนำไปเลือกการลงทุนได้
อย่างไรก็ตามหนึ่งในบริษัทที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้แก่ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating) ที่เป็นบริษัทในการจัดอันดับหุ้น STARK ที่เกิดปัญหาในขณะนี้ และที่ผ่านมาบริษัททริสเรตติ้งได้เคยจัดอันดับกรณีหุ้น EARTH หรือหุ้นของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยอาจมีการจัดอันดับออกมาเป็นอย่างดี แต่สุดท้ายหุ้นของบริษัททั้งสองเกิดปัญหาและส่งผลให้นักลงทุนหลายรายได้รับผลกระทบ จึงขอให้ ก.ล.ต. ออกมาตรการกำกับดูแลและตรวจสอบบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยด้วย