สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 พ.ค. 66
ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกรรโชกแรงบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พังงา (109) จ.เพชรบูรณ์ (104) จ.อุทัยธานี (99) จ.ชลบุรี (50) จ.นครราชสีมา (48) และ จ.ราชบุรี (45)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 43,096 ล้าน ลบ.ม. (52%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,674 ล้าน ลบ.ม. (54%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี ยกเว้นแม่น้ำบางปะกง ค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐาน และแม่น้ำท่าจีนค่าออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนบริเวณถนนพระราม 9 เขตบางกะปิ ซอยลาดพร้าว 122 เขตหวังทองหลาง ซอยสุขุมวิท 77 เขตวัฒนา ถนนบางแค เขตบางแค และถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ ภาคเหนือ บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.ศรีสะเกษ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ภาคกลาง จ.ชัยนาท สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก นครปฐมพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี และราชบุรี ภาคใต้ บริเวณ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
วานนี้ (30 พ.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อประชุมรับทราบข้อมูลแนวทางการบริหารจัดการน้ำท้องถิ่นตามบริบทชุมชนที่ได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา พร้อมผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมประชุมฯ ด้วย ทั้งนี้ สถาบันปัญจนิยามได้มีการศึกษา พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนการบริหารจัดการน้ำของชุมชนให้เกิดความเข็มแข็ง และยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดย สทนช. ร่วมกับสถาบันปัญจนิยาม และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกันพัฒนาต่อยอด ตามนโยบาย สทนช. เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาสถาบันการจัดการน้ำ ให้แก่ภาคส่วนที่สนใจ รวมถึงองค์กรผู้ใช้น้ำเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงตามฐานเรียนรู้เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน เช่น การเติมน้ำลงดินในช่วงหน้าฝนและเชื่อมโยงน้ำใต้ดินในช่วงหน้าแล้ง สร้างความมั่นคงน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และเพื่อการเกษตร การนำน้ำจากอาคารและจากหลังคาลงดิน เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังรอบอาคารในชุมชนบริเวณใกล้เคียง เป็นต้น
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ดังนี้
ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ในช่วงวันที่ 27 พ.ค. – 1 มิ.ย. 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า) ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอท่ายาง บ้านลาด และเมืองเพชรบุรี) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน และปราณบุรี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์) จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอเมืองบุรีรัมย์) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี และพิบูลมังสาหาร) ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี) จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง และแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด และเขาสมิง) และ ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ) จังหวัดระนอง (อำเภอกะเปอร์ เมืองระนอง และสุขสำราญ)จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอกะทู้ ถลาง และเมืองภูเก็ต) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเกาะลันตา คลองท่อม เมืองกระบี่ เหนือคลอง และอ่าวลึก) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง และปะเหลียน) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า)
ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงานขุดลอกคลองกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณประตูระบายน้ำลำห้วยแคน ต.หนองย่างชิ้น อ.เรณูนคร จ.นครพนม รวมทั้งบริเวณสะพานบ้านสามขา ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย และบริเวณคลองส่งน้ำ 1 ขวา บริเวณพื้นที่ ต.วังน้ำเย็น อ.แสวงหา จ.อ่างทอง เพื่อเปิดทางน้ำไหลและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ
สภาพอากาศ
ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองโดยมีฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณด้านตะวันตกของภาคกลาง
แหล่งน้ำทั่วประเทศ
4.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 43,096 ล้าน ลบ.ม. (52%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง มีปริมาณน้ำ 38,674 ล้าน ลบ.ม. (54%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,666 ล้าน ลบ.ม. (46%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 1,757 ล้าน ลบ.ม. (34%) 4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 5,253 ล้าน ลบ.ม. (29%)
การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สทนช. ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในเขตลุ่มน้ำ ทบทวนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งและแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน เพื่อประกอบการจัดทำแผนฯ ดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์สอดคล้องกับบริบทพื้นที่มากขึ้น และนำมาเป็นแผนฯ ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในเขตลุ่มน้ำในอนาคตต่อไป