บีโอไอ ร่ายมนต์กล่อมเกาหลีอยู่หมัด
นักลงทุนเกาหลีขานรับยุทธศาสตร์ใหม่บีโอไอ พร้อมลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างคลื่นลงทุนลูกใหม่ในไทย
บีโอไอรุกจัดงานสัมมนาการลงทุนที่เกาหลีใต้ ตอกย้ำศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจในไทย พร้อมจับมือ กนอ. และเอกชนยักษ์ใหญ่ไทย ร่วมดึงการลงทุนเกาหลี สร้างคลื่นการลงทุนลูกที่สามในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอีวี เซมิคอนดัคเตอร์ การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นักธุรกิจชั้นนำของเกาหลีตบเท้าเข้าร่วมงานกว่า 180 คน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้เดินทางจัดสัมมนาการลงทุนในหัวข้อ “Thailand Investment Promotion Strategy: NEW Economy, NEW Opportunities” ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 โดยมีพันธมิตรทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัทชั้นนำของไทย ทั้งกลุ่ม ปตท. และเครือซีพี เข้าร่วมบรรยายให้ข้อมูลการลงทุนและโอกาสในการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทย – เกาหลี รวมถึงเปิดการเจรจาธุรกิจและให้คำปรึกษาด้านการลงทุนเป็นรายบริษัท โดยมีนักลงทุนเข้าร่วมสัมมนามากกว่า 180 คน“ปัจจุบันมีบริษัทเกาหลีมากกว่า 400 ราย ที่เข้ามาลงทุนในไทยและประสบความสำเร็จอย่างดี โดยบริษัทรายใหญ่หรือกลุ่มแชโบล เช่น ซัมซุง แอลจี พอสโก ฮันวา และฮันซอล ถือเป็นคลื่นการลงทุนลูกแรกจากเกาหลีที่เข้ามาไทยเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว และได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หลังจากกลุ่มนี้เข้ามาตั้งฐานได้มั่นคงแล้ว ก็ได้เริ่มนำกลุ่ม Supplier และพันธมิตรทางธุรกิจ ตามเข้ามาลงทุนเป็นคลื่นลูกที่สอง ทำให้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนจากเกาหลีเข้ามาอย่างต่อเนื่องปีละเฉลี่ย 30 โครงการ เงินลงทุนราว 5 พันล้านบาทต่อปี แต่จากนี้ไป จะเป็นช่วงเวลาสำคัญของโลกยุคหลังโควิดที่มีความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะสงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศ จะเป็นโอกาสที่ไทยและเกาหลีจะร่วมกันสร้างคลื่นลูกที่สามของการลงทุนเกาหลีในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ทั้งสองประเทศมีความสนใจร่วมกัน และเกาหลีมีความเชี่ยวชาญ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดัคเตอร์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาเกมและระบบอัจฉริยะใน Smart City รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น กรณีที่เครือซีพี ได้จับมือกับบริษัทเกาหลีหลายราย ทั้งกลุ่ม SM Entertainment, CJ Entertainment และล่าสุดคือ The Black Label ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายสาขาต่าง ๆ นี้ เป็นที่สนใจของนักลงทุนเกาหลีอย่างมาก และยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดคลื่นการลงทุนลูกที่สามจากเกาหลีได้ด้วย” นายนฤตม์ กล่าว ในการจัดงานสัมมนาดังกล่าว บีโอไอได้ชี้ให้นักลงทุนเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ทั้งในแง่ที่ตั้งซึ่งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค มีระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งมีบริษัทเกาหลีตั้งอยู่จำนวนมาก อีกทั้งมีซัพพลายเชนที่ครบวงจร มีมาตรการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์จากรัฐบาล มีขีดความสามารถในการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อช่วยให้บริษัทชั้นนำของเกาหลีสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ตั้งไว้ได้ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่ประเทศไทยเข้าร่วม ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเป็นสะพานเชื่อมนักลงทุนเกาหลีกับภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี“นอกจากดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว บีโอไอยังชี้ให้บริษัทเกาหลีโดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้ว มองเห็นโอกาสและข้อได้เปรียบในการเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) และศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยด้วย โดยไทยมีมาตรการเตรียมพร้อมบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจทั้งสองสาขานี้ ซึ่งจะช่วยทำให้ฐานธุรกิจของเกาหลีในไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความมั่นคงในระยะยาว” นายนฤตม์ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ในงานดังกล่าว ยังมีการบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและเกาหลีในมิติต่าง ๆ โดย นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล อีกทั้งมีการบรรยายถึงความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมในการรองรับการลงทุน โดย นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. และการบรรยายเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทย – เกาหลี โดยผู้บริหารภาคเอกชนชั้นนำของไทยและเกาหลี ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัท โมนามิ ผู้ผลิตเครื่องเขียนชั้นนำจากเกาหลี และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเกาหลี ซึ่งผู้แทนภาคเอกชนต่างได้ชี้ให้เห็นถึงความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในการลงทุนของประเทศไทย และโอกาสการร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นต้น
“อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ทั้งต่อการตอบโจทย์เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยแล้วอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตสูงถึงกว่าร้อยละ 30 – 40 ต่อปี แสดงถึงศักยภาพที่มีสูงมาก ทั้งเกาหลีใต้และไทยต่างได้ตั้งเป้าหมายอีวีที่ชัดเจน โดยเกาหลีใต้ได้ตั้งเป้าให้บริษัทเกาหลีผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 3.3 ล้านคันภายในปี 2030 ขณะที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 ดังนั้น เกาหลีใต้และไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 5 และ 10 ของโลกตามลำดับ จึงควรร่วมมือกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและระบบนิเวศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของทั้งสองประเทศ” นายปาร์ค แจฮอง ประธานสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าของเกาหลี กล่าวในงานสัมมนา
ทั้งนี้ การจัดสัมมนาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤษภาคม 2566 โดยบีโอไอจะเข้าพบกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญ และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำแบบครบวงจร เพื่อหารือถึงโอกาสและแผนการลงทุนในประเทศไทย พร้อมทั้งจัดประชุมโต๊ะกลมกับสมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเกาหลี ทั้งผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ผู้พัฒนาระบบจัดการแบตเตอรี่ และผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า