กรมโรงงานฯ ดัน GIS ระยะที่ 2 ดึงศักยภาพพื้นที่เศรษฐกิจเพิ่มอีก
กรมโรงงานฯ ดัน GIS ระยะที่ 2 ดึงศักยภาพพื้นที่เศรษฐกิจเพิ่มอีก 8 เขตประกอบการ กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
กรมโรงงานอุตสาหกรรม เร่งจัดทำระบบภูมิสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Application) ระยะที่ 2 เพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มอีก 8 เขตประกอบการเป้าหมาย ดึงศึกยภาพการบริหารจัดการพื้นที่เศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สนับสนุนพร้อมกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน สนองนโยบาย MIND ทั้ง 4 มิติของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดทำระบบภูมิสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Application) เพื่อจัดเก็บฐานข้อมูลของพื้นที่อุตสาหกรรมในเขตประกอบการเป้าหมาย สร้างแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมให้มีความเชื่อมโยงในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ โครงข่ายคมนาคม ขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อภาคการผลิต การค้า การลงทุน ส่งเสริมและพัฒนาในพื้นที่เขตประกอบการอย่างเหมาะสมด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมผลักดันโครงการฯ ระยะที่ 2 เพื่อประโยชน์ในการจัดการพื้นที่อุตสาหกรรมใน 8 เขตประกอบการเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรอ. ดำเนินการจัดทำระบบภูมิสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Application) ระยะที่ 1 เมื่อปี 2564 ในพื้นที่ 5 จังหวัด 8 เขตประกอบการ ทำให้ได้ฐานข้อมูลและแนวเขตประกอบการที่ชัดเจน มีแนวทางในการพัฒนาอย่างเป็นระบบ สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนา GIS Application ที่มีความเสถียรเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับ กรอ. อาทิ ข้อมูลวัตถุดิบ ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ข้อมูลผลพลอยได้ ข้อมูลสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ข้อมูลเครื่องจักร ข้อมูลกำลังเครื่องจักร ข้อมูลวัตถุอันตราย ข้อมูลหม้อน้ำ เป็นต้น ทำให้สามารถนำวัตถุดิบเหลือใช้จากโรงงานหนึ่งไปใช้กับอีกโรงงานหนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเกิดกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรม และเพื่อให้ครอบคลุม 16 เขตประกอบการที่มีศักยภาพ กรอ.จึงได้เริ่มดำเนินการในระยะที่ 2 เมื่อต้นปี 2566 เพื่อนำข้อมูลที่จะได้เพิ่มเติมมาวางแผนพัฒนาเขตประกอบการและสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนใน 16 เขตประกอบการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น“กรอ.มีความมุ่งมั่นในการผลักดันการพัฒนาเขตประกอบการอุตสาหกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบภูมิสารสนเทศภูมิศาสตร์ ที่เป็นหัวใจสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมและกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในเขตประกอบการอุตสาหกรรม ช่วยยืนยันแนวเขตประกอบการอุตสาหกรรมและจัดเก็บข้อมูลตำแหน่งโรงงานที่ตั้งในเขตประกอบการอุตสาหกรรมให้ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน โดยสามารถเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปใช้ประกอบการศึกษาพัฒนาพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมในการสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ตอบสนองนโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน สร้างความสำเร็จทางธุรกิจในการขับเคลื่อนพื้นที่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย พัฒนาทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อันนำไปสู่การขยายโอกาส สร้างรายได้ สร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ” นายจุลพงษ์ กล่าวปิดท้าย
Fact Sheet : พื้นที่จัดทำระบบภูมิสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Application)ระยะที่ 1 ประกอบด้วย พื้นที่ 5 จังหวัด 8 เขตประกอบการ ได้แก่ 1. เขตประกอบการอุตสาหกรรมชัยนันท์-บางพลี พาร์คแลนด์ จ.สมุทรปราการ 2. เขตประกอบการอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 3. เขตประกอบการอุตสาหกรรมปราจีนอินดัสเตรียลปาร์ค จ.ปราจีนบุรี 4. เขตประกอบการอุตสาหกรรมอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค จ.ระยอง 5. เขตประกอบการอุตสาหกรรม จี.เค.แลนด์ จ.ระยอง 6. เขตประกอบการอุตสาหกรรมบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) จ.ระยอง 7. เขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร จ.นครราชสีมาและ 8. เขตประกอบการอุตสาหกรรมเครือซีเมนต์ไทย จ.สระบุรี
ระยะที่ 2 ประกอบด้วย พื้นที่ 5 จังหวัด 8 เขตประกอบการ ได้แก่ 1. เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ระยอง 2. เขตประกอบการอุตสาหกรรมเครือซีเมนต์ไทย จ.ระยอง 3. เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา 4. เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 5. เขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยซัมมิท จ.สมุทรปราการ 6. เขตประกอบการอุตสาหกรรม แอล พีเอ็น จ.สมุทรปราการ 7. เขตประกอบการอุตสาหกรรมซันโย จ.ฉะเชิงเทรา 8. เขตประกอบการอุตสาหกรรมทีพีไอโพลีน จ.สระบุรี มาร่วมให้ข้อคิดเห็น พร้อมเสนอแนะแนวทางเพื่อนำไปประกอบการศึกษาพัฒนาพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรม