สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 เม.ย. 66
ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนและมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ยโสธร (74 มม.) จ.ตราด (61 มม.) และ จ.จันทบุรี (60 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 25,715 ล้าน ลบ.ม. (44%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 21,164 ล้าน ลบ.ม. (44%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จัดกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว และกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน พร้อมด้วย รถบรรทุกน้ำ ขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 1 คัน ร่วมกับนายอำเภอด่านมะขามเตี้ย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำชุมชน แจกจ่ายน้ำดื่มอุปโภค-บริโภค ให้กับประชาชน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจำนวน 20 ครัวเรือน ในพื้นที่อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี
สทนช. ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเตรียมการรองรับผลกระทบภัยแล้งในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาและพื้นที่ที่มีแนวโน้มเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคเพิ่มเติมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคในเขตประปาภูมิภาค 16 สาขา 14 จังหวัด การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ได้เตรียมความพร้อมสูบใช้น้ำจากแหล่งน้ำสำรอง เป่าล้างบ่อบาดาล สูบทอยน้ำ สร้างฝาย ขุดลอก ขุดขยายลำน้ำ ใช้แหล่งน้ำจากเอกชน ประชาสัมพันธ์รับรู้สถานการณ์น้ำและให้ประหยัดน้ำ ในส่วนของพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงด้านคุณภาพน้ำในเขตประปาภูมิภาค 6 สาขา 4 จังหวัด กปภ. ได้เตรียมการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง รับน้ำจากพื้นที่ข้างเคียงและจากเอกชนในบางช่วงที่มีปัญหาคุณภาพน้ำ ทั้ง 20 สาขา สามารถรับมือสถานการณ์ขาดแคลนน้ำและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำได้ตลอดฤดูแล้งนี้ทั้งนี้ สทนช. ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่ประสานคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ) สนับสนุนรถบรรทุกน้ำเพิ่มเติมในกรณีที่รถบรรทุกน้ำไม่เพียงพอ พร้อมมอบนโยบายเพิ่มเติมว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในแล้ว ในแต่ละพื้นที่เสี่ยงขอให้กำหนดแผนสำรองให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในกรณีที่เกิดฝนทิ้งช่วงยาวนานไปจนถึงช่วงต้นฤดูฝน และมอบ สทนช.ภาค 1 ถึง 4 ร่วมติดตามและประสานความร่วมมือในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 8 เมษายน 2566 ดังนี้
ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ส่งมอบโครงการอาคารบริการน้ำดื่มระบบ RO อัตราการผลิต 250 ลิตร/ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ที่มีคุณภาพดี ณ โรงเรียนหนองแวงวิทยานุกูลบ้านหนองแวง หมู่ 11 ตำบลหนองแวง
อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม
สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทะเลจีนใต้แล้ว ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามันและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 25,715 ล้าน ลบ.ม. (44%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 21,114 ล้าน ลบ.ม. (44%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,850 ล้าน ลบ.ม. (56%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 1,751 ล้าน ลบ.ม. (34%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ)ปริมาณน้ำใช้การ 7,887 ล้าน ลบ.ม. (43%)
ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 21,025 ล้าน ลบ.ม. (44%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 17,250 ล้าน ลบ.ม. (79%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 7,105 ล้าน ลบ.ม. (83%)
การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ กอนช. ครั้งที่ 1/2566 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 14 หน่วยงาน อาทิกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เป็นต้นซึ่งที่ประชุมได้ได้ประเมินสถานการณ์พบว่า สถานการณ์การปลูกพืชฤดูแล้ง ปัจจุบันยังไม่มีการเพาะปลูกเกินแผนโดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมชลประทานได้ขอความร่วมมือไปแต่ละจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีการทำนาปรังรอบที่ 2 และได้เน้นย้ำให้ทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมชลประทาน ตรวจสอบสถานการณ์ในทุกพื้นที่ รวมถึงให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลคาดการณ์สภาพอากาศ ไปใช้ในการประเมินสถานการณ์น้ำ ทั้งนี้ กอนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด