สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 23 มี.ค. 66
ประเทศไทยตอนบน มีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวันและมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.ยะลา (82 มม.) จ.ราชบุรี (43 มม.) และ จ.กาญจนบุรี (26 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 29,584 ล้าน ลบ.ม. (51%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 23,285 ล้าน ลบ.ม. (49%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับ เทศบาลตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 เครื่อง เพื่อสูบน้ำเติมแหล่งน้ำดิบระบบประปาหมู่บ้าน ณ บริเวณคลองแม่วงก์ หมู่ที่ 3 บ้านศาลเจ้าไก่ต่อ ต.ศาลเจ้าไก่ต่อ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภคและรองรับภัยแล้ง ประชาชนได้รับประโยชน์ 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1,3 และ 4 จำนวน 1,000 ครัวเรือน 3,200 คน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการทั้งนี้ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งเป็นไปตามมติ ครม. ตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566
วันน้ำโลก นายกรัฐมนตรี ชวนร่วมมือกันอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
วานนี้ (22 มี.ค. 66 ) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ่านสารผ่านบันทึกวีดิทัศน์ เนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ดังนี้
“น้ำ” เป็นทรัพยากรสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปี เป็นวันน้ำโลก เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกร่วมกันรณรงค์ให้เกิดการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นสำคัญในหัวข้อ “เร่งการเปลี่ยนแปลง” ด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อลดวิกฤตด้านน้ำและสุขาภิบาล โดยรณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันเป็นผู้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่อยากเห็นในโลกใบนี้
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน และได้ขับเคลื่อนภารกิจด้านทรัพยากรน้ำ โดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านจากการวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานและองค์กร รวมทั้งสภาพปัจจุบันและแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำของประเทศ ที่เป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนทุกพื้นที่ ร่วมกับภาคีหน่วยงานและองค์กร นักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่น ควบคู่กับการทำความเข้าใจและขยายเครือข่ายแนวร่วมภาคประชาชน และเดินหน้าไปพร้อมกับประเทศสมาชิกในการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจ เพื่อยืนยันความร่วมมือ เร่งการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ เนื่องในโอกาส “วันน้ำโลก” ประจำปี 2566 นายกรัฐมนตรีขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งมีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 มี.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กองทัพเรือ ดำเนินการสร้างฝายกั้นน้ำชั่วคราว ณ วัดพลิ้วน้อย ตำบลปัถวี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เพื่อใช้เก็บกักน้ำ สำหรับอุปโภค และบริโภค ในช่วงฤดูแล้ง โดยสอดคล้องกับกิจกรรมโครงการ “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน) สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชน และหน่วยงานภาครัฐ
2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับลมตะวันตกปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 29,584 ล้าน ลบ.ม. (51%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 23,287 ล้าน ลบ.ม. (49%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,161 ล้าน ลบ.ม. (63%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,135 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 8,755 ล้าน ลบ.ม. (48%)
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ่านสารเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 โดยสรุปได้ดังนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน และได้ขับเคลื่อนภารกิจด้านทรัพยากรน้ำโดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านจากการวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานและองค์กร รวมทั้งสภาพปัจจุบันและแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ได้วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบพลวัตโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ด้าน คือ การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ การลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติด้านน้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและคุณภาพน้ำ และการเสริมความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลนิเวศ วิถีทางสังคม เศรษฐกิจของพื้นที่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างสมดุลการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งนํ้าด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ในลักษณะลุ่มนํ้าอย่างเป็นระบบ และได้ขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งมีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน