สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 19 มี.ค. 66

ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.แพร่ (52 มม.) จ.เชียงใหม่ (48 มม.) และ จ.ลำพูน (46 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 30,216 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 23,822 ล้าน ลบ.ม. (51%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำแม่คำมี ต.ตำหนักธรรม อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ ผลที่คาดว่าจะได้รับหลังการขุดลอก เพิ่มพื้นที่หน้าตัดของร่องน้ำ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก การอุปโภค-บริโภค และการเกษตร ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร การกัดเซาะตลิ่ง โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขุดลอก ประมาณ 900 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 2,500 ไร่
กอนช. ติดตามหน่วยงานสนับสนุนจุดจ่ายน้ำบาดาล 203 แห่ง ในพื้นที่ 54 จังหวัด
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับกองทัพบก การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้ง” ประจำปี 2566 สนับสนุนจุดจ่ายน้ำบาดาล 203 แห่ง ในพื้นที่ 54 จังหวัด เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภคของประชาชนตลอดฤดูแล้ง โดยแต่ละหน่วยงานได้ให้การสนับสนุนกำลังพล แหล่งน้ำสะอาด รถบรรทุกน้ำ พลังงานไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงเครื่องจักรอุปกรณ์ที่จำเป็นในการให้ความช่วยเหลือประชาชนบรรเทาปัญหาภัยแล้งจากการขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภค – บริโภค
โครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้ง” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันก้าวเข้าสู่ ปีที่ 25 นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เตรียมความพร้อมของบุคลากร รวมถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ได้แก่ ชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล 84 ชุด ชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ 15 ชุด และชุดซ่อมระบบประปาและเครื่องสูบน้ำ 29 ชุด เพื่อให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาภัยแล้งแก่ประชาชนด้วย
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 19 มี.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมชลประทานดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ณ บ้านบึง หมู่ที่ 1 ตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ เพื่อสูบน้ำแก้ไขปัญหาปริมาณน้ำดิบไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาที่ใช้อุปโภคและบริโภคของประชาชน
2. สภาพอากาศ
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ทั้งนี้เนื่องจากความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ตอนล่าง มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 30,216 ล้าน ลบ.ม. (52%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 23,824 ล้าน ลบ.ม. (50%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,257 ล้าน ลบ.ม. (64%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,136 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 8,951 ล้าน ลบ.ม. (49%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 23,711 ล้าน ลบ.ม. (50%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 14,601 ล้าน ลบ.ม. (67%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,083 ล้าน ลบ.ม. (71%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำบาดาลลงพื้นที่บ้านธรรมามูลใต้ หมู่ที่ 1 ตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ริมแม่น้ำ (Riverbank Filtration) ร่วมกับคณะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชนผู้ได้รับประโยชน์ ในการนี้ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความเข้าใจร่วมกัน พร้อมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานและรายละเอียดการส่งมอบบ่อน้ำบาดาล พร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ในการบริหารจัดการใช้น้ำบาดาลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ มีแหล่งน้ำที่มีความมั่นคง และใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลได้อย่างคุ้มค่า